มึน! สสจ.สระแก้วตอบกรณีคนฉีดวัคซีนจอห์นสันฯในคลินิกเอกชน "หิ้วมาเอง"
มึน! สสจ.สระแก้วตอบกรณีคนฉีดวัคซีนจอห์นสันฯในคลินิก ระบุคนฉีดหิ้วมาเอง ไม่ทราบนำมาจากไหน โป๊ะแตกหลังนำใบรับรองแพทย์มาขอวัคซีนพาสปอร์ต ตรวจสอบคลินิกเอกชนไม่พบวัคซีน-ไม่มีการขาย แต่แพทย์ยอมรับ “ฉีดจริง” อ้างว่าคนไข้เอามาให้ฉีด ตั้งคณะกรรมการสอบหาที่มาวัคซีน
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ให้สัมภาษณ์กรณีการแชร์ข้อมูลว่ามีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว โดยมีค่าใช้จ่าย 2,800 บาทว่า เมื่อเดือน ต.ค.2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สระแก้ว ได้ลงพื้นที่ค้นหาคนฉีดที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากการฉีดวัคซีนในจังหวัด ยังครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเพียง 47% โดยกลุ่ม 608 ฉีดเพียง 55% ถือว่ายังไม่ถึงเป้าหมาย โดยสูตรหลักที่ฉีดจะเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า จึงต้องรณรงค์ ค้นหาผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้มาฉีดมากขึ้น
ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้นำใบรับรองแพทย์การฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จากคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัด มาขอวัคซีนพาสปอร์ต(Vaccine Passport) แต่ไม่พบข้อมูลการฉีดใน MOPH IC จึงไม่ได้ออกวัคซีนพาสปอร์ตให้รายนี้ หลังจากนั้นสสจ. จึงลงไปตรวจสอบคลินิกเอกชนดังกล่าว ก็ไม่พบผลิตภัณฑ์วัคซีน ไม่มีการขายวัคซีนด้วย แต่แพทย์ยอมรับว่า มีการฉีดจริง อ้างว่าคนไข้เอามาให้ฉีด
“คนไข้ ไปซื้อวัคซีนนี้จากไหนไม่รู้แล้วหิ้วมาให้แพทย์ฉีด โดยเก็บค่าฉีด แต่แพทย์ที่คลินิกไม่ได้เป็นคนซื้อวัคซีนมาฉีด ซึ่งทางคลินิกอ้างว่าไม่รู้ว่าคนไข้นำวัคซีนมาจากไหน ส่วนจะเป็นวัคซีนของปลอมหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ แต่น่าจะเป็นการแอบอ้างแล้วถือมาให้แพทย์ฉีด ซึ่งเกิดจากการพบโดยบังเอิญเป็นกรณีแรก และยังไม่มีการร้องเรียนอะไรเพิ่มเติม” นพ.ประภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่แพทย์ในคลินิดฉีดวัคซีนจอห์นสันฯซึ่งยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ถือว่าผิดหรือไม่ นพ.ประภาส กล่าวว่า ตนตรวจสอบฐานความผิดแล้ว ระบุว่า คลินิกห้ามซื้อยาหรือวัคซีนผิดกฎหมาย แต่ไม่พบความผิดตรงนี้ ส่วนการที่แพทย์ฉีดวัคซีนให้คนไข้ สามารถทำได้ เพราะแพทย์มีใบประกอบโรคศิลปะ สามารถใช้ดุลยพินิจฉีดให้ได้ ซึ่งตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็ได้นำเข้าระบบการตักเตือนให้ระมัดระวังการประกอบวิชาชีพ และตั้งคณะกรรมการสอบหาว่าวัคซีนดังกล่าวมาจากที่ไหน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนใดก็ตาม จะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เท่านั้น สำหรับวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน ซึ่งวัคซีนจอห์นสันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว โดยที่ผ่านมาสถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ได้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันฯ ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อฉีดให้ประชากรของฝรั่งเศสที่พำนักไทย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นใน จ.สระแก้ว ขณะนี้ตรวจสอบเบื้องต้น ข้อมูลระบุว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ รายดังกล่าวนั้น ได้ไปติดต่อขอรับใบรับรองแพทย์กับทางจังหวัด โดยอ้างว่า ฉีดมาจากคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ไปตรวจสอบแล้ว ก็ไม่พบว่ามีการลักลอบนำเข้าวัคซีนผิดกฎหมาย แต่ข้อมูลว่า ไปฉีดที่ไหน อย่างไรทาง สสจ.จะตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนชนิดไวรัล แว็กเตอร์ โดยฉีดเพียง 1 โดส ผ่านการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 โดยมีบริษัทแจนเซน-ซีแลก จำกัด เป็นผู้ขึ้นทะเบียนขอนำเข้า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเข็มเดียว ทะเบียนมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 – 24 มี.ค. 2565 ทั้งนี้ ในการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เคยมีการหารือร่วมกับบริษัทแจนเซน-ซีแลก จำกัด ผู้แทนนำเข้าวัคซีนนี้ในประเทศไทย แต่เมื่อเกิดกรณีการตรวจพบปัญหาการผลิตจากนั้นไม่ได้มีการหารืออต่อ จึงยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนจอห์นสันฯมาใช้ในประเทศไทยโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนร มีเพียงสถานทูตฝรั่งเศส แจ้งสธ.มีการนำเข้าวัคซีนนี้มาใช้กับเจ้าหน้าที่สถานทูต ขณะที่ในระบบหมอพร้อม ข้อมูล ณ เวลา 12.22 น. วันที่ 8 พ.ย.2564 มีการระบุจำนวนผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ 0.007 ล้านโดส
สำหรับกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีนจอห์นสันฯที่จ.สระแก้วนี้ยังไม่ทราบว่าผู้ฉีดนำวัคซีนมาจากที่ไหน และช่องทางใด รวมถึง เป็นวัคซีนจริงหรือไม่
ขณะที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน คือ กัมพูชาที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.06 ล้านโดส และลาว ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน จำนวน 1 ล้านโดส ส่วนประเทศมาเลเซียและเมียนมาร์ยังไม่มีรายงานวัคซีนจอห์นสันฯ