"แรงงานต่างด้าว" อยากฉีดวัคซีน ต้องทำอย่างไร
หลังจากเดินหน้า “เปิดประเทศ” เข้าวันที่ 9 กิจการกิจกรรมหลายแห่งเริ่มเปิดให้บริการ และเริ่มมีการทะลักเข้ามาของ "แรงงานต่างด้าว" หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเพราะกลัวการแพร่ระบาด “วัคซีนโควิด-19” จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยควบคุมโรคทั้งแรงงานและสังคมไทย
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากมีการ "เปิดประเทศ" ทำให้ผู้ประกอบการหลายส่วน ต้องการแรงงานในการเปิดกิจการกิจกรรม มีความกังวลกรณี "แรงงานต่างด้าว" ทะลักเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ทำให้ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้ง ตำรวจทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง
สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย รวมทั้ง กระทรวงแรงงาน เร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย รองรับความต้องการของภาคการผลิตและบริการไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง
- คร. ห่วงลักลอบเข้าเมือง แพร่โควิด
ที่ผ่านมา อธิบดี กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ มีความกังวลในเรื่องการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว เพราะเป็นปัจจัยการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นชัด ๆ คือ ในตลาด จะเริ่มต้นที่แรงงานต่างด้าวก่อนไม่ว่าจะเป็น ตลาดในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร แม้กระทั่งที่เชียงใหม่
“แน่นอนว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าว แต่ขอให้เข้ามาถูกกฎหมาย และหากเข้ามาแล้วขอให้มีระบบการลงทะเบียนติดตามได้ว่าเขาอยู่ที่ไหน อยู่ในชุมชนไหน ฉีดวัคซีนหรือยัง ซึ่งได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือพื้นที่เข้าไปดูแล้ว เราต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้เพื่อป้องกันไม่ใหห้เกิดการระบาดขึ้นมาอีก”
ทั้งนี้ การกักตัว การเข้ามาทางบกยังมีความจำเป็นที่จะต้องกักตัวตามกำหนดไม่ว่าจะเป็น 7 วัน 10 วัน กรณีฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วหากตามเกณฑ์เดิมก็คือกักตัว 7 วัน ส่วนกรณีเข้ามาแล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน นโยบายเราก็ชัดเจนว่าทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยเราจะฉีดให้หมด
- นายจ้างบทบาทสำคัญ
พร้อมย้ำว่า ผู้มีบทบาทสำคัญเลยคือนายจ้าง เพราะลูกจ้างใครไปบอกเขาก็ไม่เชื่อ แต่หากนายจ้างเข้มงวด เชื่อว่าแรงงานยินดีที่จะทำตามทุกคน ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือทุกคน เจ้าของสถานประกอบการ องค์กร ให้ช่วยเน้นย้ำตรงส่วนนี้ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพูดอย่างเดียว อาจจะไม่ได้ผลมากนักบางครั้งอาจจะพูดกันเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน
- แรงงานต่างด้าว ต้องฉีดวัคซีน
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่พำนักอาศัยอยู่ประเทศไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบสัมมาอาชีพในไทย เพราะถ้าสามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้ประชากรเหล่านี้หมด จะได้เน้นหากติดเชื้ออาการไม่มากก็รักษาได้
- วัคซีนควรเป็นเงื่อนไข
การเข้าทำงานในสถานประกอบการชนิดใดก็ตาม นายอนุทิน ให้ความเห็นว่า วัคซีนควรจะต้องเป็นเงื่อนไข และถูกกำกับดูแลโดยเจ้าของสถานประกอบการ ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ที่จะสอบถามหากจะรับพนักงานใหม่ หรือคนงานเข้ามาทำงานว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ฉีดเลยก็ไม่ควรจะต้องรับเข้าทำงาน
ลักลอบเข้าเมือง + ไม่ฉีดวัคซีน ผิด 2 กระทง
ทั้งนี้ คนที่จะต้องเดินทางเข้าประเทศไทย หรือเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศไทย โดยถูกต้องตามกฎหมายต้องฉีดวัคซีน ถ้าเข้ามาผิดกฎหมายไม่ฉีดวัคซีน จะเจอความผิด 2 กระทง คือ ลักลอบเข้าเมืองและไม่มีวัคซีนแล้วเป็นการแพร่เชื้อ จึงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ขอให้เข้ารับวัคซีน
- เข้าถูกกฎหมาย ยังไม่ฉีดวัคซีน ทำอย่างไร
หากเข้ามาแบบถูกกฎหมายแต่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากประเทศต้นทาง นายจ้างหรือผู้ประกอบการสามารถประสานเพื่อให้ลูกจ้างเข้ารับการฉีดวัคซีนในประเทศไทยได้ โดย สธ. ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ
- ลักลอบเข้าเมือง แต่อยากฉีดได้หรือไม่
นายอนุทิน เผยว่า กรณีที่ลักลอบเข้ามา ก็จะฉีด แต่ฉีดแล้วจะส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
- ชี้แจงจุดฉีดทุกจุด บริการต่างด้าว
ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องและขอให้เจ้าของกิจการใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย พาคนงานต่างด้าวไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
"ซึ่งได้ชี้แจงทุกจุดฉีดวัคซีนแล้วให้จัดบริการฉีดวัคซีนกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญยังต้องย้ำมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง กิจการใช้มาตรการ COVID Free Setting จะเปิดประเทศได้อย่างราบรื่น"
- ส่งวัคซีนลงชายแดน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้มีการจัดสรรวัคซีนลงไปมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวชายแดน เพื่อให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งคนไทย และเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงาน หรือข้ามแดนไปมาหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะฉีดให้หมด โดยเฉพาะตามชายแดน อาทิ แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก และชายแดน จ.สระแก้ว
"นโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายของไทยอยู่แล้ว ที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนในประเทศปลอดภัย" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
- แรงงานต่างด้าว ผิดกม. ขึ้นทะเบียน ภายใน 30 พ.ย. 64
ขณะเดียวกัน “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา -2019 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
- นำเข้าแรงงาน ตาม MOU
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมศปก.ศบค. เห็นชอบแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MoU ในสถานการณ์โควิดตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยแนวทางเบื้องต้นยังคงจัดกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มสีเขียว ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้พิจารณาเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต
2.กลุ่มสีเหลือง ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน
3.กลุ่มสีแดง ที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) หากอยู่ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หลังครบกำหนดระยะเวลากักตัวจะได้รับวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตนม.33 นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้า จะอนุญาตตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว
- ฉีดต่างด้าวไปแล้วกว่า 4 แสนโดส
ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้จัดฉีดวัคซีนผู้ใช้แรงงานไป 3 ล้านกว่าโดส ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 4 แสนโดส โดยไม่ได้แยกแยะว่าจะต้องเป็นคนไทย ขอให้เป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ในส่วนของสิทธิการรักษา ถ้าเจ็บป่วยในประเทศไทย รัฐบาลไทย กรมควบคุมโรค ก็ต้องให้การรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน
- กรมจัดหางาน เร่งหารือ นำต่างด้าวเข้าทำงาน
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากนี้จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเรื่องรายละเอียดขั้นตอน โดยจะหารือใน 7 เรื่องหลัก ได้แก่
1.การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
2. การดำเนินการของประเทศต้นทาง
3. การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
4. การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
5. จุดผ่านแดน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง
6. สถานที่กักตัว
7. การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน เมื่อได้แนวทางที่ชัดเจน จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.เพื่อเริ่มดำเนินการทันที
- ไทยต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน
ข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลเรื่องปัญหาแรงงานขาดแคลน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เดินทางกลับประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเอกชนมีความเห็นให้รัฐมีการทำความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือ MOU เรื่องการกำหนดโควตาส่งกำลังแรงงานข้ามประเทศตามที่มีการสำรวจความต้องการแรงงาน ให้มีการตรวจสุขภาพและการกักตัว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการอนุญาตอย่างถูกกฎหมายก็จะกลายเป็นปัญหาการลักลอบเข้าเมืองกลายเป็นความเสี่ยง ทั้งนี้ ในภาคอุตสาหกรรมคาดว่ามีความต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาหาร
เนื่องจากขณะนี้ เป็นช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและในประเทศที่ถูกแช่แข็งราวสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกโรงงานมีคำสั่งการผลิตเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการส่งออก รวมถึงในช่วงที่ผ่านมามีการกักตุนสินค้าน้อยลง หลายโรงงานเร่งปล่อยสินค้าในคลังจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ในตอนนี้ความต้องกำลังการผลิตจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกคราว