เช็คสิทธิช่วยเหลือ "ผู้ประสบภัย" เปิดหลักเกณฑ์ กทม.เยียวยา "น้ำทะเลหนุน"
เปิดสิทธิเยียวยา "ผู้ประสบภัย" น้ำท่วม ตรวจสิทธิตามหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "ภัยพิบัติ" น้ำทะเลหนุน ล้นตลิ่งท่วมในกรุงเทพฯ
จากเหตุการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำ และบริเวณแนวฟันหลอจุดคันกั้นน้ำชั่วคราว 6 จุดในพื้นที่ 5 เขตเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ตลอดเดือน พ.ย.ยังเป็นช่วงเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงรอบใหม่ในวันที่ 14 พ.ย. และช่วงวันที่ 20-26 พ.ย.
โดยเฉพาะ 6 พื้นที่เสี่ยงที่เคยน้ำท่วมมาแล้ว ตั้งแต่ 1.ถนนทรงวาด ถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ 2.สะพานซังฮี้ ใต้สะพานกรุง ร้านอาหารขนาบน้ำ เขตบางพลัด 3.ถนนเจริญกรุง อู่ต่อเรือ - สะพานปลา ถนนพระราม เขตยานนาวา 4.วัดดอกไม้-สะพานพระราม 9 เขตยานนาวา 5.ถนนเจริญนคร-แยกบุคคโล เขตธนบุรี และ 6.ถนนทางรถไฟสายเก่า-วัดสะพาน เขตคลองเตย ยังเป็นพื้นที่ตื่นตัวเตรียมความพร้อมน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งตลอดเดือน พ.ย.
ถึงแม้สถานการณ์ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์เริ่มควบคุมได้ แต่ขณะนี้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.และสำนักงานเขตพื้นที่ อยู่ระหว่างสำรวจความช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนผู้ประสบภัย โดย กทม.ได้สั่งให้สำนักงานเขตตั้งจุดลงทะเบียนเพื่อ "ออกหนังสือรับรอง" แจ้งความเสียหายกับชุมชนที่ประสบสาธารณภัย "น้ำทะเลหนุน"
สำหรับหลักเกณฑ์การเยียวยานั้น พบว่า กทม.มีหลักเกณฑ์ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย(ฉบบัที่ 5) พ.ศ.2564 เพื่อช่วยเหลือตามความเหมาะสมและจำเป็นของผู้ประสบเหตุแต่ละราย มีรายละเอียดดังนี้
• ประเภทการเงิน
1.ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
2.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีบาดเจ็บจากการประสบสาธารณภัยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็น ดังนี้
2.1 ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 2,000 บาท
2.2 กรณีบาดเจ็บต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลเท่าที่ จ่ายจริงคนละไม่เกิน 4,000 บาท ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยรายใหญ่ หรือรุนแรงเป็นท่ีสะเทือนขวัญ ของประชาชนทั่วไปให้จ่ายเงินปลอบขวัญคนละไม่เกิน 2,300 บาท
2.3 กรณีบาดเจ็บสาหัสหรือพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ และเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัวให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่าครองชีพคนละไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
3.ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน หากผู้ประสบสาธารณภัยพักอาศัยในบ้านหรือที่พักอาศัยอื่น ซึ่งต้องเสียค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน ให้ช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน นับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย
ในกรณีหน่วยงานจัดทำหรือจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบสาธารณภัยได้พักอาศัยได้ไม่เกิน 2 เดือน นับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย โดยให้เบิกจ่ายได้เท่าท่ีจ่ายจริง
4.เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
5.เงินทุนฝึกอาชีพ เฉพาะผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับอันตราย เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ต้องได้รับการฝึกอาชีพใหม่ ในวงเงินคนละไม่เกิน 5,000 บาท
6.ค่าพาหนะในการส่งกลับภูมิลาเนาเดิม สำหรับผู้ประสบสาธารณภัยท่ีมีภูมิลำเนาเดิม อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ แต่มาอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และมีความประสงค์จะอพยพกลับภูมิลำเนาเดิม ในวงเงินเท่าท่ีจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อหนึ่งคน
7.ค่าพาหนะในการขนส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปยังที่พักแห่งใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ให้จ่ายได้เท่าท่ีจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อหน่ึงครอบครัว
8.เงินสมทบจัดซื้อสัตว์เลี้ยงหรือพืชพันธุ์อื่นๆ รวมถึงปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ในกรณีท่ีผู้ประสบสาธารณภัยมีอาชีพในการทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพ ไม่เกิน 11,000 บาทต่อหนึ่งครอบครัว
9.เงินสมทบจัดซื้อสัตว์เลี้ยงหรือพืชพันธ์ุอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ในกรณีที่ผู้ประสบสาธารณภัยมีอาชีพในการทำเกษตรกรรม หรือเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท ต่อหนึ่งครอบครัว
• ประเภทสิ่งของ
1.วัสดุสมทบสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือน หรือที่อยู่อาศัย ซึ่ง ผู้ประสบสาธารณภัยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในกรณีที่เจ้าของยินยอมหรือกรณีที่ไม่สามารถจ่ายให้แก่เจ้าของได้ โดยจะให้ความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท
2.วัสดุสมทบสร้างหรือซ่อมแซม วัด มัสยิด โบสถ์ สำนักสงฆ์หรือศาสนสถาน ที่ได้รับความเสียหายเท่าที่เสียหายจริงไม่เกิน 49,500 บาท
3.เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค เครื่องครัว เครื่องมือประกอบอาชีพ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว
3.1 เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง รวมคนละไม่เกิน 500 บาท
3.2 ยารักษาโรค ครอบครัวละไม่เกิน 500 บาท
3.3 เครื่องครัว และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
3.4 เครื่องมือประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท ในกรณีท่ีไม่ได้รับเงินทุนประกอบอาชีพ
3.5 เครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว ได้แก่
1.เครื่องนุ่งห่ม คนละไม่เกิน 2 ชุด ไม่เกิน 1,000 บาท
2.เครื่องนอน คนละ 1 ชุด ไม่เกิน 500 บาท
3.สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ถังน้ำ เป็นต้น ครอบครัวละไม่เกิน 300 บาท
4.เครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียน
4.1 เครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุด ไม่เกิน 1,000 บาท
4.2 หนังสือและอุปกรณ์การเรียนคนละ 1 ชุด ไม่เกิน 1,000 บาท
• ประเภทบริการ
1.ค่าอาหารจัดเลี้ยงวันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาท ต่อคน
2.ค่าจัดสร้างหรือดัดแปลงสถานที่พักชั่วคราว ซึ่งรวมทั้งการจัดน้ำดื่มและใช้สอย ห้องน้ำ ห้องส้วมโรงครัว และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นครอบครัวละไม่เกิน 4,000 บาท
นอกจากนี้ กทม.ยังมีเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ.2557 ของสำนักพัฒนาสังคม ประเภทค่าใช้จ่าย จะให้ความช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลและประถมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรี
สำหรับ "คุณสมบัติ" ผู้มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา ต้องอายุไม่เกิน 25 ปี บิดา มารดา หรือบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองประสบภาวะอย่างใด อย่างหนึ่ง เช่น ตาย ทอดทิ้ง สาบสูญ ต้องโทษจำคุก หรือ พิการ ทุพพลภาพ ป่วยทางร่างกายหรือจิตใจประสบสาธารณภัย หรือเหตุอื่น จนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวตามควรแก่อัตภาพ โดยมีหลักเกณฑ์การให้ทุนดังนี้
1.ระดับอนุบาลและประถมศึกษาไม่เกิน 3,000 บาท/คน/ปี
2.ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่เกิน 3,500 บาท/คน/ปี
3.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพไม่เกิน 4,000 บาท/คน/ปี
4.ระดับอนุปริญญา หรือหลักสูตรปริญญาบัตรวิชาชีพชั้นสูงไม่เกิน 4,5000 บาท/คน/ปี
5ระดับปริญญาตรี ไม่เกิน 5,000 บาท/คน/ปี
อ่านที่เกี่ยวข้อง : สรุปเงินเยียวยา "ผู้ประสบภัย" ผ่าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "ภัยพิบัติ"