“ร้านอาหาร” เปิดบริการนั่งดื่มแอลกอฮอล์-เล่นดนตรี ต้องทำอย่างไรบ้าง?
หลังจากเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา "ร้านอาหาร" เริ่มเปิดให้บริการนั่งดื่มแอลกอฮอล์และแสดงดนตรี โดยจะต้องปฎิบัติตามมาตรการสธ. Covid-Free Setting เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แพร่ระบาดโควิด-19
วันนี้ (15 พ.ย.2564)นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประเด็น สถานการณ์โควิด/วัคซีนและมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขรองรับการเปิดประเทศ ว่าการดำเนินการงานในส่วนของ Covid-Free Setting ร้านอาหารที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ และการแสดงดนตรี หลักการดำเนินการ จะดูในเรื่องของกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยง อาทิ การรวมกลุ่มสังสรรค์ กลุ่มคนกินดื่ม มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแสดงดนตรี หรือร้องเพลง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิดได้ เพราะมีการอยู่ในสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ และมีการร้องเพลง กินเหล้า เต้นรำ การตะโกน
ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการฯ พ.ร.บ.การสาธารณสุข และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เป็นตัวกำหนด โดยการปรับมาตรการตามระยะให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแผงรองรับการเปิดประเทศนั้น ในระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.2564) จะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในร้านอาหารเฉพาะพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง
ส่วนระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค.2564) บริโภคได้ตามมาตรการที่กำหนดโดยเน้นความเข้มของมาตรการบุคคลให้มีภูมิคุ้มกันตามแนวทางที่กำหนด และระยะที่ 3 ตั้งแต่ (1 ม.ค.2564) บริโภคได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยเน้นความเข้มของมาตรการของบุคคลให้มีภูมิคุ้มกันตามแนวทางที่กำหนด ส่วนการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่เปิดให้ดำเนินกิจการ หลังปีใหม่ 2565 ไปแล้ว
- ย้ำร้านอาหารปฎิบัติ Covid Free Setting
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการ Covid Free Setting สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการแสดงดนตรี จะดูตั้งแต่สภาพแวดล้อม ทั้งเรื่องความสะอาดปลอดภัย เว้นระยะห่าง ไม่แออัด และระบายอากาศที่ดี ต้องมีการทำความสะอาด เครื่องดนตรี ไมโครโหน ทันทีหลังให้บริการ แยกโซนและมีฉากกั้น ระหว่างนักร้อง นักดนตรี อย่างน้อย 1 เมตร และผู้รับบริการอย่างน้อย 2 เมตร
ส่วนของพนักงาน นักร้อง นักดนตรี จะต้องมีภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเคยติดเชื้อโควิด1-3 เดือน หรือไม่พบเชื้อตรวจด้วยATK ซ้ำทุก 7 วัน หรือ ตรวจ ATK เมื่อมีผลการประเมิน คัดกรองความเสี่ยงด้วย TST และป้องกันตนเอง UP และ DMHTA ผู้รับผิดชอบ กำกับติดตามพนักงาน นักร้อง นักดนตรีทุกคนจำนวนจำกัด นักร้องและนักดนตรี ไม่เกิน 3-5 คน นักร้องและนักดนตรี รับงานได้ไม่เกิน 1-3 ร้านประจำ งดรวมกลุ่มขณะปฎิบัติงาน ระหว่างพักและงดรับประทานอาหารร่วมกัน
ขณะที่ลูกค้านั้น ต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วย TST หรือ APP อื่นๆ ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือ ATK เป็นลบไม่เกิน 7 วัน งดร่วมร้องเพลง เล่นดนตรีกับนักร้อง นักดนตรี ทั้งนี้ สถานประกอบการต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus (TSC+) และควบคุมกำกับให้พนักงานประเมินตนเองผ่าน TST โดยเคร่งครัด
- ร้านอาหารผ่านประเมินCovid Free Setting
นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้การประเมินตนเองตามมาตรการของ Covid Free Setting ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม จากระบบ TSC+ ข้อมูลวันที่ 1 ก.ค.-4 พ.ย.2564 พบว่า จำนวนร้านที่ลงทะเบียน 5,411 แห่ง ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 219 แห่ง ซึ่งผลประเมิน Covid Free Setting พบว่า ผ่านการประเมิน 5,164 แห่ง หรือ 95.44% และไม่ผ่านการประเมิน 247 แห่ง หรือ 4.56%
ส่วนภาพรวมของ 4 จังหวัดนำร่อง(กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต) พบว่ามีจำนวนร้านที่ลงทะเบียน 2,748 แห่ง ร้านจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 128 แห่ง ผลการประเมินตนเอง พบว่าผ่านการประเมิน 2,642 แห่ง หรือ 96.14% ไม่ผ่านการประเมิน 106 แห่ง หรือ 3.86%
ขณะที่ ภาพรวม 17 จังหวัดนำร่อง(กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ตราด บุรีรัมย์ ประจวบฯ เพชรบุรี ระนอง ระยอง เลย สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุดรธานี) พบว่า มีจำนวนร้านที่ลงทะเบียน 3,577 แห่ง ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 156 แห่ง ผ่านการประเมิน 3,430 แห่ง หรือ 95.89% และไม่ผ่านการประเมิน 147 แห่ง หรือ 4.11%
“ฝากให้หน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ ปฎิบัติการตามมาตรการ Covid Free Setting หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ของสธ. อย่างเคร่งครัด เพราะทุกมาตรการของสธ.ในการดำเนินการครอบคลุมทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ หากสถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ถือว่ามีความปลอดภัยสูง และผู้มาใช้บริการมีการฉีดวัคซีนครบ และตรวจ ATK ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าร้านประกอบการต่างๆ ปลอดภัย” นพ.อรรถพล กล่าว
- เสี่ยงแพร่ระบาดรวมกลุ่มร้องเพลงนอกร้าน
ส่วนกรณีที่มีการปล่อยวิดีโอคลิปสถานประกอบการเปิดให้มีการรวมกลุ่มร้องเพลง ที่ถนนข้าวสาร นพ.อรรถพล กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สถานประกอบการไม่ควรดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทางประชาชนในพื้นที่สามารถร้องเรียนเข้ามาตรวจสอบ โดยแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และขอความร่วมมือสถานประกอบการทุกแห่งขอให้ปฎิบัติตามมาตรการที่สธ.กำหนด
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์ที่สถานประกอบการตรงถนนข้าวสารนั้น อยากขอความร่วมมือทุกสถานประกอบการให้ปฎิบัติตามมาตรการสธ. เพราะหากไม่ปฎิบัติตามแล้วเกิดการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาด อาจต้องกลับไปหยุดกิจกรรม/กิจการต่างๆ ต้องห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือการปิดเมือง ดังนั้น ในเดือนธ.ค.นี้ มีกิจกรรม วันสำคัญมากมาย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องช่วยกัน และพยายามทำให้เป็นนิสัย ทุกคนจะได้ก้าวสู่ปีใหม่ สามารถใช้ชีวิตได้