ฉีด "วัคซีนโควิด-19" สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อส่วนรวม

ฉีด "วัคซีนโควิด-19" สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อส่วนรวม

สธ. เร่งการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในเดือน พ.ย.นี้ และให้ได้มากกว่า 120 ล้านโดสภายในสิ้นปี 64 ศบค.ชง มอบส่วนลดร้านค้า สร้างแรงจูงใจ ฉีดวัคซีนก่อนไปทำกิจกรรมในที่สาธารณะ รับผิดชอบสังคม

สถานการณ์การฉีด "วัคซีนโควิด-19" ในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 85,012,905 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 45,374,194 หรือ 63.0% เข็ม 2 จำนวน 36,855,732 หรือ 51.2% และ เข็ม 3 จำนวน 2,782,979 หรือ 3.9%โดยความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำแนกตามจังหวัดและการได้รับวัคซีนตามเป้าหมายวันที่ 15 พ.ย.2564 (ผลการดำเนินงานถึง14 พ.ย.2564) พบว่า มี 39 จังหวัด ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดร้อยละ 50-69 และมี 11 จังหวัดที่ได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดร้อยละ 70

 

  • เร่งฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสภายใน พ.ย.

 

กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังพบว่า มี 47 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดร้อยละ 60-79 และมี 5 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดตั้งแต่ร้อยละ 80 จากนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งรัดการฉีด วัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดสภายในเดือนพ.ย.นี้ และให้ได้มากกว่า 120 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีน โดยจะฉีดวัคซีนเชิงรุก ขยายไปยังทุกกลุ่มประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว แม้จะไม่ใช่คนไทยก็ต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาด และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันผู้อื่น

โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย จะค้นหาเชิงรุกกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์จะพยายามสื่อสาร ทำความเข้าใจ ข้อมูลด้านวัคซีนให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะที่ภาคเอกชน จะมีการจัดมาตรการต่างๆ ในการฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน เช่น จัดฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานทุกคน ลดค่าโดยสารสาธารณะ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และศบค.ได้มีการสั่งการและหามาตรการจูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนระดับพื้นที่ และระดับประเทศ รวมถึงออกประกาศการไปสถานที่สาธารณะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน

 

  • ไปที่สาธารณะแสดงหลักฐานฉีดวัคซีน

 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส  จะจัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนวันที่ 27 พ.ย.-5 ธ.ค. 64 จัดทีมเชิงรุก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และขยายไปยังแรงงานต่างด้าว เร่งฉีดวัคซีนภายใน 16 วัน เป็นจำนวน 13.98 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 จำนวน 5.38 ล้านโดส และเข็มที่ 1 จำนวน 8.60 ล้านโดส  โดย  กระทรวงมหาดไทย (มท.) จะทำหน้าที่ค้นหาเชิงรุกกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และนำมาฉีดวัคซีน 

 

กระทรวงการศึกษาธิการ (ศธ.) มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ จะทำการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ข้อมูลด้านวัคซีนให้ประชาชนทราบ ในส่วนของภาคเอกชนจะทำการจัดส่วนลดค่าโดยสารรถสาธารณะ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้บริหารจัดการกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้มาฉีดวัคซีน จูงใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน และออกประกาศการไปที่สาธารณะจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ศบค. อยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น อาจจะมีมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีน และสุดท้ายถ้าจำเป็นจริงๆ การไปทำกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะอาจจะต้องมีการแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เพื่อจะให้เกิดความปลอดภัย เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของประชาชนคนนั้นต่อชุมชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น อยากจะเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีนเพราะไม่อยากจะออกมาตรการอะไรที่เป็นการบังคับมากเกินไป เพราะถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประเทศในภาวะเช่นนี้

 

ขณะที่ผลการดำเนินกงานเปิดประเทศ 1 – 14 พ.ย. 64 มีผู้เดินทางเข้ามาทางราชอาณาจักรไทย ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย สะสม 50,074 ราย ติดเชื้อ 56 ราย คิดเป็น 0.11%

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าหลังเปิดประเทศมีมาตรการต่างๆ พบผู้ที่เดินทางเข้ามามีการติดเชื้อที่ต่ำมาก ขณะนี้อัตรการติดเชื้อภายในสูงกว่า แสดงถึงการเปิดประเทศเราสามารถควบคุมได้ดีแนวโน้มการติดเชื้อ กทม.มีการฉีดวัคซีนเกือบ 100 % สถานการณ์เป็นไปด้วยดีจังหวัดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่ดี    

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน อย่างที่ประเทศออสเตรียประกาศล็อกดาวน์ใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือสิงคโปร์ ที่ออกมาบอกว่าหากติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทางภาครัฐจะไม่ออกค่ารักษาพยาบาลให้ ในส่วนของประเทศไทยเองยังไม่ได้มีกำหนด 

 

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการ (ผอ.) กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในสภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่าแม้ตอนนี้ภาพรวมของสถานการณ์ โควิด-19 แนวโน้มจะดีขึ้น แต่สถานการณ์ความเสี่ยงยังเกิดขึ้นได้ เพราะความเสี่ยงมาจากชีวิตประจำวันของทุกคน ปัจจุบันยังพบผู้ติดเชื้อ ในคลัสเตอร์เรือนจำ แรงงานประมง แคมป์ก่อสร้าง ค่าย/ค่ายฝึกทหาร-ตำรวจ โรงงาน /สถานประกอบการ ตลาด พิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานทอดกฐิน งานศพ สถานศึกษา ชุมชน และโรงพยาบาล

 

“ขอความร่วมมือ แม้ในชุมชนจะติดเชื้อลดลง ก็ขอให้มาฉีดวัคซีน หากไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้แจ้ง อสม. เจ้าหน้าที่รพ.ชุมชน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อจัดหาบริการให้เข้าถึง เร่งฉีดให้ได้เป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ พื้นที่ต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนสี ฝากให้หน่วยงาน สถานประกอบการศึกษามาตรการอย่างเคร่งครัด สถานการณ์ลดในภาพรวม แต่ความเสี่ยงยังอยู่ใกล้ตัว ขอย้ำชักชวนกันมาฉีดวัคซีน”นพ.เฉวตสรรกล่าว

 

การประเมินตนเองตามมาตรการของ Covid Free Setting ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากระบบ TSC+ ข้อมูลวันที่ 1 ก.ค.-4 พ.ย.2564 พบว่า จำนวนร้านที่ลงทะเบียน 5,411 แห่ง ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 219 แห่ง ซึ่งผลประเมิน Covid Free Setting พบว่า ผ่านการประเมิน 5,164 แห่ง หรือ 95.44% และไม่ผ่านการประเมิน 247 แห่ง หรือ 4.56%

 

ส่วนภาพรวมของ 4 จังหวัดนำร่อง(กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต) พบว่า มีจำนวนร้านที่ลงทะเบียน 2,748 แห่ง ร้านจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 128 แห่ง ผลการประเมินตนเอง พบว่าผ่านการประเมิน 2,642 แห่ง หรือ 96.14% ไม่ผ่านการประเมิน 106 แห่ง หรือ 3.86%

 

ขณะที่ภาพรวม 17 จังหวัดนำร่อง (กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ตราด บุรีรัมย์ ประจวบฯ เพชรบุรี ระนอง ระยอง เลย สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุดรธานี) พบว่า มีจำนวนร้านที่ลงทะเบียน 3,577 แห่ง ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 156 แห่ง ผ่านการประเมิน 3,430 แห่ง หรือ 95.89% และไม่ผ่านการประเมิน 147 แห่ง หรือ 4.11%