ศูนย์สุขภาพชุมชนฯ รพ.ราชบุรี "ลดความแออัด" เพิ่มคุณภาพดูแลผู้ป่วย
สปสช. ลงพื้นที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนประชานุเคราะห์ "รพ.ราชบุรี" เยี่ยมชมโครงการ "ลดความแออัด" เพิ่มคุณภาพดูแลผู้ป่วยนอก รพ. ออกแบบบริการปฐมภูมิ หน่วยยา-เจาะเลือด-ทันตกรรม-กายภาพบำบัด เป็นด่านหน้า อำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเบียดเสียดใน รพ.
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “ศูนย์สุขภาพชุมชนประชานุเคราะห์ รพ.ราชบุรี (หน่วยบริการปฐมภูมิโรงเจ)” อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คลินิกบริการระดับปฐมภูมิ ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารงานของโรงพยาบาลราชบุรี
สำหรับการดำเนินงานคลินิกแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ลดความแออัด ของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่ รพ.ราชบุรี โดยจัดบริการระดับปฐมภูมิแบบใกล้บ้านใกล้ใจ เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้พื้นที่การดูแลทั้งหมด 35 ชุมชน รวมประชากร 26,111 คน ด้วยอัตรากำลังของบุคลากรรวม 30 คน ซึ่งคลินิกแห่งนี้ได้รับรางวัล PCC award เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี ปีงบประมาณ 2562
นางสุนีย์ สิทธิไทย อายุ 51 ปี เปิดเผยว่า ตนเองเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนประชานุเคราะห์ รพ.ราชบุรีด้วยโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงได้ประมาณ 1-2 ปี สำหรับการเข้ามารับบริการที่ศูนย์ฯ แห่งนี้นั้นค่อนข้างพึงพอใจ เนื่องจากได้รับบริการที่รวดเร็ว เพราะเดิมทีรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี ด้วยความที่มีผู้ป่วยรอรับบริการเป็นจำนวนมากทำให้บางครั้งต้องใช้เวลาในการรอเพื่อเข้ารับบริการมากกว่าครึ่งวัน
“เรามาที่นี่เพราะใกล้บ้านกว่า ใช้เวลาไม่นาน ตอนนั้นรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ รอนาน และเหนื่อยเพราะต้องตื่นเช้าเพื่อไปต่อคิว แต่พอมาที่นี่แล้วเร็วกว่ามาก เพราะเขาจะแบ่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลให้มาที่นี่” นางสุนีย์ กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ คำอิ่ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชบุรีจะมีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการประมาณ 2,500 – 3,000 ราย และไม่มีพื้นที่ที่เพียงพอในการให้บริการ ทำให้เกิดความแออัด และรอนาน ฉะนั้นการจัดตั้งศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล มากไปกว่านั้นยังเป็นศูนย์สุขภาพฯ ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน โดยเฉพาะมูลนิธิประชานุกูล (โรงเจประปา) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์ฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
อย่างไรก็ดี สำหรับศูนย์ฯ แห่งนี้มีผู้เข้ารับบริการวันละ 200-300 ราย เฉลี่ยระยะเวลาในการเข้ารับบริการประมาณ 30 นาทีต่อคน ส่งผลให้โรงพยาบาลราชบุรีสามารถลดความแออัดได้ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีบริการอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น บริการเจาะเลือด เอกซเรย์ กายภาพบำบัด ทันตกรรม รับยา เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการพูดคุย-วางแผนในการขยายศูนย์ฯ นอกโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นต่อไป
“จากตอนแรกที่จะมีผู้ป่วยในพื้นที่ แต่ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นตอนนี้ประชาชนจากอำเภอ หรือจังหวัดอื่นๆ ก็เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์แห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน หากประชาชนที่อาศัยอยู่อำเภอข้างเคียง และมองว่าศูนย์นี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็สามารถเข้ารับบริการที่นี่ได้เช่นกัน” นพ.เกรียงศักดิ์ ระบุ
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ยังมีการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษา หรือดูแลความเจ็บป่วยต่างๆ รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยในชุมชนโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาลได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นการดูแลที่เรียกว่าบริการปฐมภูมิ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การให้บริการของศูนย์ฯ แห่งนี้มีความสมบูรณ์ครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ยา ส่วนตัวคิดว่าตรงนี้เป็นคำตอบที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายลดความแออัด โดยเฉพาะในเขตเมืองที่อาจจะคาดไม่ถึงว่าจะมีบริการในลักษณะนี้
ทั้งนี้ การบริการยังเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล เพียงแต่กระจายออกมาอยู่นอกโรงพยาบาลเป็นรูประบบบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่เจ็บป่วยเบื้องต้น สามารถเข้ารับบริการได้ ซึ่งทาง สปสช.สนับสนุนนโยบายระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเข้ามาสนับสนุนในบทบาทของ สปสช. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และเกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น
“ผมคิดว่าศูนย์สุขภาพชุมชนฯ แห่งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถต่อยอดให้เขตเมืองอื่นๆ ได้เรียนรู้จากบทเรียนของราชบุรี ที่ต้องการให้มีการกระจายใกล้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่โรงพยาบาลให้ประชาชนเดินเข้ามา” นพ.จเด็จ ระบุ