รวมมิตร "มาตรการจูงใจฉีดวัคซีนโควิด-19" เมื่อคนไทยมีอัตราชะลอตัว
เป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19ครบ 100 ล้านโดส กำลังถูกท้าทาย เมื่อถึงช่วงปลายปีพบว่า คนไทยเข้ารับวัคซีนในอัตราที่เริ่มชะลอตัวลง จำเป็นต้องเร่งกลยุทธ์จูงใจต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้คนฉีดวัคซีน ประเทศไทยใช้มาตรการหลากหลาย
ยอดฉีดวัคซีนโควิด-19สะสม
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 ศบค.รายงานประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19สะสมแล้ว 88,803,596 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 46,646,938 ราย คิดเป็น 64.8 % เข็มที่ 2 จำนวน 39,101,640 ราย คิดเป็น 54.3% และเข็มที่ 3 จำนวน 3,055,018 ราย คิดเป็น 4.2%
11 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ครอบคลุม 70 %ขึ้นไป คือ
- ปทุมธานี
- สมุทรสาคร
- สงขลา
- ฉะเชิงเทรา
- กรุงเทพฯ
- เชียงใหม่
- ชลบุรี
- สมุทรปราการ
- พังงา
- ภูเก็ต
- ระนอง
22 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ต่ำกว่า 50 % คือ
- แพร่
- แม่ฮ่องสอน
- พิษณุโลก
- ชัยนาท
- นครนายก
- ลพบุรี
- อ่างทอง
- สมุทรสงคราม
- สุพรรณบุรี
- สระแก้ว
- กาฬสินธุ์
- มหาสารคาม
- ร้อยเอ็ด
- นครพนม
- บึงกาฬ
- สกลนคร
- หนองบัวลำภู
- ชัยภูมิ
- สุรินทร์
- ยโสธร
- ศรีสะเกษ
- อุบลราชธานี
อัตราเข้ารับวัคซีนโควิด-19ชะลอตัว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า อัตราการรับวัคซีนโควิด-19 เริ่มชะลอตัวลง เพราะคนรับจำนวนมากแล้ว จะเหลือคนที่ไม่อยากมารับวัคซีน ก็จะเป็นประเด็นปัญหาได้ ยืนยันว่าวัคซีนที่ทุกคนได้รับมีมาตรฐาน ปลอดภัย และประสิทธิภาพประสิทธิผล ป้องกันโรคโควิด-19ได้ โดยกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็จะใช้แผนพวกมากลากไป โดยชาวบ้านทั่วไปจะขอให้ อสม.ไปติดตามและสร้างความมั่นใจ ชักชวนออกมาฉีด
หากเป็นกลุ่มวัฒนธรรมประเพณีศาสนา ก็จะให้ผู้นำศาสนามาช่วย อย่าง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้นำศาสนาก็ลงไปให้ความเข้าใจทุกเพศทุกวัย จนคลายความกังวล และผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำงานเชิงรุกให้ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เกินเดือนธันวาคม ตามสโลแกนที่ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เหตุที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้ให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนไปได้จำนวนมากแล้ว แต่ก็จะมีบางกลุ่ม ซึ่งคาดว่าประมาณ 11 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะนี้ได้ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปจำนวนมากที่ยังตกค้างยังไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 7-8 ล้านคน เป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ (Hardcore) ทางการแพทย์ หรือกลุ่มที่ปฏิเสธวัคซีนด้วยสาเหตุต่างๆ กันไป
เช่น กลุ่มที่อยู่พื้นที่ไม่ระบาด กลุ่มอยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น โดยกลุ่มนี้คิดว่าไม่ได้ไปมีความเสี่ยงที่ไหน จึงไม่ไปฉีดวัคซีน หรือกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราในการระดมบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ไปชี้แนะข้อเท็จจริง ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ
“ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ สิ่งที่จำเป็น หากท่านอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับบริการ ขอให้ท่านอย่าปฏิเสธการรับวัคซีน เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต วัคซีนที่รัฐนำมาให้บริการผ่านการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ขอให้ประชาชนสบายใจ”
ค้นหาคนยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศบค. อยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาฉีดวัคซีนโควิด-19มากขึ้น อาจจะมีมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีน และสุดท้ายถ้าจำเป็นจริงๆ การไปทำกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะอาจจะต้องมีการแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เพื่อจะให้เกิดความปลอดภัย เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของประชาชนคนนั้นต่อชุมชนเช่นเดียวกัน จากนี้ไปภาครัฐจะเร่งดำเนินการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ข้อมูลด้านวัคซีนให้ประชาชนทราบ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย จะค้นหาเชิงรุกกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19ทุกกลุ่มในไทย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดสภายในเดือนพ.ย.นี้ และให้ได้มากกว่า 120 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ขณะนี้ได้มีมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีน โดยจะฉีดวัคซีนเชิงรุก ขยายไปยังทุกกลุ่มประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว แม้จะไม่ใช่คนไทยก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาด และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันผู้อื่น
ส่วนลดค่าโดยสาร-ร้านอาหาร
ขณะที่ภาคเอกชน จะมีการจัดมาตรการต่างๆ ในการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้แก่พนักงาน เช่น จัดฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานทุกคน ส่วนลดค่าโดยสารสาธารณะ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
และศบค.ได้มีการสั่งการและหามาตรการจูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนระดับพื้นที่ และระดับประเทศ รวมถึงออกประกาศการไปสถานที่สาธารณต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน
ออกประกาศต้องแสดงผลฉีดวัคซีน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในส่วนของ ศบค. ต้องออกประกาศ หากไปในสถานที่สาธารณะ ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มาฉีดวัคซีน
ใช้ “คนละครึ่ง”จูงใจ
จูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ระดับพื้นที่ : สิ่งของ รางวัล ฯลฯ ขณะที่ ระดับประเทศ : ของรางวัล คนละครึ่ง ส่วนลดพิเศษ ฯลฯ คงจะได้เกิดขึ้นต่อไปเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขสรุปเป็นข้อเสนอมา ยังไม่ได้ทำ เป็นเพียงข้อเสนอ อย่างไรก็ตาม คงจะได้มีมาตรการและพูดคุยลงรายละเอียดต่อไป
เปิดWalk in ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกก้า+ไฟเซอร์
ขณะที่หลายจังหวัดมีการใช้มาตรการ Walk inฉีดวัคซีน โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และปรับสูตรฉีดเป็นแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ อย่างเช่น รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบรี เปิดWalk in ในวันที่ 22-26 พ.ย. 2564 เวลา 13.00-15.00 น. หรือรพ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดรับWalk in ในวันที่ 23 และ 25 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 -15.00 น. วันละ 500 คน
ฉีดวัคซีนพร้อมจับรางวัล
กรณี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี มีการทำงานอย่างแขงขัน หลังปรับสูตรแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วย ไฟเซอร์ คนสนใจมากขึ้น และรวมกับให้จับฉลากหลังจากฉีดวัคซีนเสร็จ บางคนได้พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้คนหน้าตาสดชื่น
ธุรกิจอาจไม่ให้บริการคนไม่ฉีดวัคซีน
นายอนุทิน กล่าวว่า การไม่ฉีดวัคซีนอาจทำให้เจอมาตรการทางสังคมโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าเป็นเจ้าของสถานบริการเขาอาจบอกว่าที่นี่พนักงานฉีดแล้ว เจ้าหน้าที่ฉีดแล้วอาจต้อนรับเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน เป็นต้น ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยวันหนึ่งอาจจะเจอแบบนี้ได้ โดยผู้ให้บริการอาจสงวนสิทธิ์ในการให้บริการได้ หรือหากไปสมัครงานเป็นบริกร หรือพนักงานบริการต่างๆในเมืองท่องเที่ยว จะเปิดร้านต่างๆ ถ้าไปสมัครงานแล้วบอกว่ายังไม่ได้ฉีดวัคซีน ยังไม่ต้องพูดถึงการสัมภาษณ์งาน เจ้าของกิจการอาจพิจารณารับคนที่ฉีดวัคซีนก่อน นี่คือสิ่งที่ผมสื่อ
บังคับใช้กฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงาน มาตรการสุดท้ายที่ควรจะนึกถึงหากการฉีดวัคซีนโควิด-19ไม่ถึงเป้า ก็คือ “กฎหมาย” โดยในพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34(2) ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดโรค ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด หากไม่เข้ารับจะมีโทษตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
แต่ทว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ใช้เวลาพัฒนาออกมาใช้ไม่ถึงปี ใช้มาราว 1 ปี และบางชนิดวัคซีนเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่มีการใช้ผลิตวัคซีนมาก่อน บวกกับประเทศไทยและนานาประเทศ ล้วนใช้ “ความสมัครใจ”เป็นฐานตัดสินใจการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19มาก่อนทั้งสิ้น จึงอาจเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในการที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับ
“ อยากจะเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีนเพราะไม่อยากจะออกมาตรการอะไรที่เป็นการบังคับมากเกินไป เพราะถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประเทศในภาวะเช่นนี้”นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าว
มาตรการจูงใจฉีดวัคซีนโควิด-19ในต่างประเทศ
สหรัฐอเมริกา ปลายเดือน ก.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างรัฐบาลกลางหลายล้านคนแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนแล้ว โดยพนักงานของรัฐที่ไม่มีหลักฐานว่าฉีดวัคซีนแล้วจะต้องตรวจหาเชื้อโควิดสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง และถูกจำกัดการเดินทางในราชการ ทั้งยังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมหาวิธีการและกำหนดเวลาให้บุคลากรในกองทัพฉีดวัคซีน
"รัฐนิวยอร์ก" ใช้แผน “Key to NYC Pass” เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 บังคับประชาชนแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าสถานที่สาธารณะ ในร้านอาหาร ฟิตเนส สถานบันเทิง รวมถึงพนักงานที่ทำงานในสถานที่นั้นๆ
รัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างแรงจูงให้ลุ้นรางวัลในรูปแบบเดียวกับลอตเตอรี่จำนวน 10 รางวัล ซึ่งมีมูลค่ารางวัลละ 1.5 ล้านดอลลาร์หรือราว 46 ล้านบาท และรางวัลละ 50,000 ดอลลาร์หรือราว 1.5 ล้านบาทอีก 30 รางวัล พร้อมมอบบัตรกำนัลแลกเป็นเงินสดหรือสินค้าอุปโภคบริโภคคนที่ฉีด2 ล้านคนแรก มูลค่ารายละ 50 ดอลลาร์ หรือราว 1,500 บาท
“ออสเตรีย” เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 วัน ผู้มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ในออสเตรีย ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ฉีดแล้วแต่ยังไม่ครบ จะออกจากบ้านไปในสถานที่สาธารณะได้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ทำงาน จ่ายตลาด โดยเจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน หากพบการฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และอาจต้องชำระค่าปรับมากถึง 1,450 ยูโร
สิงคโปร์ ประกาศว่า คนที่เลือกจะไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วติดเชื้อโควิด-19 จะต้องออกค่ารักษาเอง โดยจะเริ่มเรียกเก็บเงินผู้ป่วยโควิด-19 ที่เลือกไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. ส่วนผู้ที่มีเหตุไม่สามารถฉีดได้จริงๆ รัฐบาลยังคงออกค่ารักษาพยาบาลให้ตามปกติ ส่วนคนที่ฉีดเข็ม 1 จะขยายเวลาให้ฉีดเข็ม 2 จนถึง 31 ธ.ค.
ต้องจับตาดูว่า ภายใต้การเข้ารับวัคซีนในอัตราที่ชะลอตัวลงของประเทศไทย และแผนจูงใจที่จะกระหน่ำออกมาดำเนินการดึงให้คนไปฉีดวัคซีนมากขึ้น จะทำให้เป้าหมาย ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพ.ย. หรือสิ้นปี 2564 เป็นจริงได้หรือไม่