ทำอย่างไร? เมื่อถูกผู้ชายทำร้ายร่างกาย ตบตี กรณี#นานาไอซ์โดนทำร้าย
#นานาไอซ์โดนทำร้าย ติดเทรนด์ทวิสเตอร์อันดับหนึ่งทันที เมื่อการทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้ทุกที่ ทุกเวลา ฉะนั้น วิธีการรับมือเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย เป็นสิ่งที่ผู้หญิงควรรู้!!!
กลายเป็นกระแสขึ้นมาทันที หลังจากในโลกโซเชียลมีเดีย ได้มีการแชร์ข้อความจากเฟสบุ๊ค Rukchanok Srinork น.ส.รัชนก ศรีนอก หรือไอซ์ นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่ได้โพสต์ข้อความเล่าเหตุการณ์ที่ถูก “ต้อม ยุทธเลิศ” นายยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ ตบหน้าและทำร้ายร่างกาย ณ เรือลำหนึ่งย่านคลองสาน กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 21 พ.ย.2564
กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเซียลมีเดียมากมายจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง #นานาไอซ์โดนทำร้าย เพราะการทำร้ายผู้หญิงเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทว่าในปัจจุบัน การทำร้ายผู้หญิงยังคงมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระบุ สถิติความรุนแรงในครอบครัว ปีงบประมาณ 2564 ระหว่างเดือน ต.ค.2563 – พ.ค.2564 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 81% แบ่งเป็น ความสัมพันธ์สามี-ภรรยา 39% วัยกลางคน 32.4% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 32.1% ซึ่งมักไม่ดำเนินคดีสูงถึง 78%
ส่วนปัญหาที่พบ เป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุดถึง 64.5% รองลงมาคือ จิตใจ 31.4% และเรื่องเพศ 3.6% ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้น คือ ยาเสพติด สุรา อาการหึงหวง การมีโทสะ การรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากกว่า การมีปัญหาสุขภาพทางจิต และความเครียดทางเศรษฐกิจ
สำหรับ สถานที่เกิดเหตุมักเกิดภายในบ้านของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดการระบาดหนักอีกครั้งในระลอกที่ 2 และ 3
- ทำไม? ผู้ชายชอบทำร้ายผู้หญิง
นายจเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่าปัญหาการทำร้ายร่างกาย เป็นปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงเป็นผู้ชายถึง 97% โดยมีรากฐานมาจาก “ทัศนคติชายเป็นใหญ่” ที่มองว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง และผู้ชายจะใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้หญิงทั้งทางวาจา จิตใจ และร่างกาย
โดยการทำร้ายด้วยวาจามีสัดส่วนสูงที่สุด และจากการทำงานร่วมกับผู้ชายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว พบด้วยว่าหากผู้หญิงไม่ตอบโต้ หรือพูดคุยด้วย ผู้ชายก็จะใช้ความรุนแรงทางวาจา และจิตใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย โดยการดื่มเหล้ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชายลงไม้ลงมือกับผู้หญิง
“สาเหตุหลักมาจากวิธีคิดที่ปลูกฝังกันมาว่าชายเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของผู้หญิง ผู้ชายคิดว่าตัวเองเหนือกว่า ขณะที่ระบบการศึกษาไม่สอนเรื่องสิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย"นายจเด็จ กล่าว
นอกจากนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น และปัญหาต่างๆ เข้ามามายกมายส่งผลให้เกิดความเครียดในครอบครัว จนนำไปสู่การทะเลาะ ความรุนแรงได้
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกาย
ความรุนแรงในครอบครัว และการทำร้ายร่างกายผู้หญิงของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยไม่นิยมแจ้งความเมื่อพบหรือประสบกับความรุนแรง โดยมีเพียง 17% เท่านั้นที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวและร้องขอความช่วยเหลือ
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เปิดเผยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำต้องทนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว 5 ข้อ ดังนี้
1.ความรักความผูกพัน หลังก่อความรุนแรงฝ่ายชายมักจะขอโอกาสเพื่อกลับตัวและจะไม่ใช้ความรุนแรงอีก ด้วยความรักความผูกพันที่มีให้จึงยอมที่จะทน หวังว่าฝ่ายชายจะปรับปรุงตัว
2.อดทนเพื่อลูก ฝ่ายหญิงมักคิดว่าถ้าลูกไม่มีพ่อ ลูกจะมีปมด้อย ขาดความอบอุ่น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของลูกในอนาคต
3.พยายามรักษาความเป็นครอบครัว ด้วยสภาพสังคมที่ปลูกฝังความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ทำให้ผู้หญิงต้องยอมอดทนต่อความรุนแรง
4.คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ค่านิยมที่ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า
5.ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงานมีลูกแล้ว ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว หากจะเลิกรากับสามีก็กลัวจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเลี้ยงดูตัวเองและลูก จึงต้องทนต่อความรุนแรง
- สิ่งที่ควรทำ เมื่อถูกกระทำความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในครอบครัว หรือถูกทำร้ายร่างกาย สิ่งที่ผู้หญิงควรกระทำ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย
1.อย่าอยู่ใกล้ อย่าโต้เถียง
2. อย่าต่อปากต่อคำ อย่าแสดงความโกรธ อย่าแสดงความหวาดกลัว
3.ให้สื่อสารด้วยท่าทีที่อ่อนโยน
4.ถ้าถูกทำร้าย ให้รีบหนีไปตั้งหลัก ในที่ที่มีคนอยู่ อย่าโต้ตอบ ยึดถือหลักน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ อย่าอายที่จะร้องขอความช่วยเหลือ เช่น เพื่อน หรือโทรถึงตำรวจเบอร์ 191 โดยทันที
5.เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วต้องยืนยันว่าจะไม่ใช้คำพูดหยาบคาย หรือวิธีทุบตีทำร้าย
6.เก็บซ่อนอาวุธไว้ให้มิดชิด หรือไม่ต้องเก็บไว้ที่บ้าน
7.ควรผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน และกล้าขอความช่วยเหลือ โดยไม่อาย
- ระงับโกรธ ไม่ยั่วยุ ระบายอย่างถูกวิธี
ขณะที่ผู้หญิงเอง ควรรู้จักระงับความโกรธเพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกาย
1.คุณมีสิทธิ์โกรธได้ แต่ต้องระบายอย่างถูกวิธี เช่น เลี่ยงไปที่อื่นจนอารมณ์ผ่อนคลายลง ระบายควมโกรธด้วยการเขียนลงบนสมุด หรือพูดคุยให้เพื่อนสนิทฟัง แต่ถ้าคุณไม่ไว้ใจไคร ก็สามารถโทรศัพท์ขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์นารีรักษ์ 02-2011103
2.พยายามท่องไว้ในใจเสมอว่า อย่าโต้ตอบด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้วยิ่งจะสร้างปัญหาให้หนักขึ้น
3.การทำร้ายร่างกายผู้อื่นผิดกฏหมาย อาจต้องโทษจำคุก แล้ว ลูก พ่อ แม่ จะอยู่กับใคร
4.แจ้งความให้กฏหมายลงโทษ
เมื่อถูกทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง ไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้
- ไม่อยู่คนเดียว
- คิดถึงความรู้สึกของคนที่รักเราและเราก็รักเขา เช่น ลูก พ่อ แม่
- ระบายความทุกข์กับเพื่อน
- คิดถึงสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางศาสนา เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญตักบาตร
- คิดอยู่เสมอว่าทำร้ายตนเองเป็นคนที่บาปหนัก
- ให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอ
- โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ
- พบแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือและปกปิดความลับของคุณได้
อ้างอิง: องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF), บีบีซีไทย ,กรมสุขภาพจิต ,มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล