ถ้าจะ"ยุติความรุนแรง" ต้องกล้าตัดสินใจ #ให้มันจบที่ครั้งแรก

ถ้าจะ"ยุติความรุนแรง" ต้องกล้าตัดสินใจ #ให้มันจบที่ครั้งแรก

ผู้หญิงไม่เคยลืมครั้งแรกของเธอ เมื่อถูกผู้ชายทำร้ายครั้งแรกจึงให้อภัย แต่การใช้"ความรุนแรง"ไม่ได้จบแค่นั้น...และนี่่คือเรื่องเล่าใน “Museum of First Time” พิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริง

แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ครั้งนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย บอกเล่าเรื่องราวรูปแบบใหม่ สร้างเป็นแคมเปญกระตุ้นจิตสำนึก #ให้มันจบที่ครั้งแรก เนื่องในวันยุติความรุนแรงในเพศหญิง ( 25 พฤศจิกายน 2564 )

#ให้มันจบที่ครั้งแรก จะมาขยี้ความรู้สึกด้านในผู้หญิงทุกคน ที่มักจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งแรกกับตัวเองได้ รวมถึงการถูกทำร้ายครั้งแรก นำเสนอด้วย Virtual Museum มิวเซี่ยมหรือแกลลอรี่เสมือนจริง

Museum of First Time

พิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย ที่จะให้คุณสามารถมองเห็นในรูปแบบ 360 องศา ตั้งแต่เรื่องราวโรแมนติก ของขวัญชิ้นแรก รูปคู่รูปแรก ไปจนถึงความรักที่แปรเปลี่ยน เริ่มถูกทำร้ายครั้งแรก

สัญญาครั้งแรกว่าจะไม่ทำอีก ไปถึงดีกรีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น การกักขังหน่วงเหนี่ยวไปจนถึงการทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บเลือดตกยางออก

โดยตอนพีคของทัวร์พิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะพบกับวิดีโอของคนต้นเรื่องที่เซอร์ไพร์สคุณได้ไม่น้อยเลย

ถ้าจะ\"ยุติความรุนแรง\" ต้องกล้าตัดสินใจ #ให้มันจบที่ครั้งแรก

ในตอนจบคุณสามารถแชร์เรื่องราวของตัวเองได้ในเว็บไซต์โดยไม่ต้องเขียนชื่อตัวเอง และถ้าคุณอยากแชร์ประสบการณ์เหล่านี้ให้เพื่อนๆ ก็มีปุ่มแชร์ Ticket หรือตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนที่คุณแคร์ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์แห่งครั้งแรกได้เช่นกัน

คำสัญญาเป็นแค่ลมปาก

“คำสัญญาของผู้ชายไม่เคยเป็นจริง สุดท้ายก็ยังกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงและคนในสังคมได้เรียนรู้ว่า ผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงนั้นมีปัญหาหลายครั้ง และรุนแรงมากขึ้น รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ พิการได้

เราอยากให้ผู้หญิงได้เรียนรู้สิทธิของตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่ามีสิทธิ์ในการเรียกร้องอะไรได้บ้าง สามารถปกป้องตัวเองได้อย่างไรบ้าง เราต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้จากนิทรรศการนี้ เพี่อนำไปสู่การยุติปัญหาและเพื่อป้องกันการถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ” จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

ถ้าจะ\"ยุติความรุนแรง\" ต้องกล้าตัดสินใจ #ให้มันจบที่ครั้งแรก

ความรุนแรงแบบไหนที่คุณรับไม่ได้

ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามาขอคำปรึกษาจากฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจำนวน 71 ราย

พบว่าทุกเคสถูกกระทำซ้ำ นั่นหมายถึงผู้หญิงเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวมากกว่าหนึ่งครั้ง และมักจะใจอ่อน เมื่อฝ่ายชายขอโทษหรือกลับมาทำดีให้ และถูกทำร้ายอีกนับครั้งไม่ถ้วน

ตามสถิติของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายในช่วงโควิด-19 กรณีศึกษาอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,692 คน เก็บข้อมูลวันที่ 17-23 ตุลาคม 2564 พบว่า พฤติกรรมที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่

-ความรุนแรงทางวาจา(การพูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ) ร้อยละ 53.1

-ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ร้อยละ 35.0

-ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ ร้อยละ 22.6

-ทำร้ายร่ายกาย ร้อยละ 20.2

-นอกใจคบชู้ ร้อยละ 18.9

-ผู้กระทำมีภาวะเมาสุรา ร้อยละ 31.4

ทางด้าน ชนิกานต์ สิทธิอารีย์ Creative Group Head บริษัทวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เล่าว่า เรานำคำว่าครั้งแรกมาตีความในโลกความเป็นจริง อยากให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายได้ชม Museum of First Time ได้รับรู้และตัดสินใจที่จะออกมาจากความสัมพันธ์นั้นก่อนเลย

“ซึ่งทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ รวมถึงคนที่ไม่เคยถูกทำร้ายด้วย ถ้าสักวันที่เค้าได้เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านแบบนี้ เราก็หวังว่าเค้าจะเลือกที่จะจบมันทันทีตั้งแต่ครั้งแรก”

สามารถเข้าไปรับประสบการณ์ได้ที่ www.museumof1sttime.com อย่าลืมช่วยกันแชร์เป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง และบอกผู้ชายที่เคยหรือกำลังใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ให้ยุติความรุนแรงในเพศหญิงไปพร้อมๆ กัน