เช็ก! วิธีการไปทำงานต่างประเทศ ถูกต้องตามกฏหมาย
เช็ก! วิธีการไปทำงานต่างประเทศ ถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามหลักสากลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้วยกรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรณีแรงงานไทย
ลักลอบเดินทางไปทำงานในประเทศลิเบียและถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศทุกประเทศศึกษา รายละเอียดวิธีการเดินทางและปฏิบัติตามขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามหลักสากลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ
จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มี 5 วิธี ดังนี้
1. กรมการจัดหางานจัดส่ง
เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าธรรมเนียม สนามบิน ค่าสมาชิกกองทุนฯ ค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี (Employment Permit System: EPS) ประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กรองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization, Japan: IM JAPAN) รัฐอิสราเอล ตามความตกลงไทย - อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand - Israel Cooperation on the Placement of Workers: TC และการจัดส่งไปทำงานต่างประเทศภายใต้ระเบียบกรมการจัดหางาน เช่น ไต้หวัน มาเก๊า มาเลเชีย เป็นต้น
2. บริษัทจัดหางานจัดส่ง
กรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานจัดส่ง เมื่อคนหางาน
ลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศแล้ว ให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางาน ที่จดทะเบียนถูกต้องและตำแหน่งานที่อนุญาตให้จัดส่งไป จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas
3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง
คนหางานติดต่อนายจ้างต่างประเทศด้วยตนเองหรือคนงานที่ทำงานครบสัญญาจ้าง
แล้วได้ต่อสัญญาจ้าง เมื่อเดินทางกลับมาพักผ่อนในประเทศไทยและจะเดินทางกลับไปทำงานอีก ต้องแจ้งต่อกรมการจัดหางานก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน
4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
นายจ้างในประเทศไทยที่มีบริษัทในเครืออยู่ในต่างประเทศหรือประมูลงาน ในต่างประเทศได้ ส่งลูกจ้างที่อยู่ในประเทศไทยไปทำงานต้องขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน
5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน นายจ้างที่ประสงค์จะส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนา ฝีมือลูกจ้างหรือเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อการฝึกงาน ในต่างประเทศเสร็จสิ้น ลูกจ้างต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างตามเดิม โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้อง รายงานการกลับเข้ามาทำงานของลูกจ้างให้กรมการจัดหางานทราบ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศ
ที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เนื่องจากบางประเทศมักเกิดปัญหาภัยสงครามภายในประเทศ หรือเป็นประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สวีเดน ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงโดยเฉพาะการหลอกลวงจากสื่อสังคม ออนไลน์ เฟซบุ๊ค ไลน์ เว็บไซต์เอกชนต่างๆ ดังนั้น ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรพิจารณาไตร่ตรองการโฆษณาชักชวนและศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ที่ www.doe.go.th เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที www.doe.go.th/overseas หรือเว็บไชต์สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อให้มีความรู้และมีความเข้าใจในขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หากมีข้อสงสัยหรือ อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด สำนักงาน จัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ