โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ปัจจัยเสี่ยงฟื้นประเทศ
ทรัพยากรในการรับมือของประเทศไทยไม่ได้มีสูงมาก โดยเฉพาะงบประมาณที่การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถ้าระบาดรุนแรงขึ้นจะเป็นโจทย์ที่ยากมากของรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศ
การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจนถึงความรุนแรงของโรค รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีในปัจจุบันป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน โดยความกังวลเกิดจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ในช่วงกลางปี 2564 ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงในหลายประเทศ รวมถึงผลกระทบในประเทศไทยที่ทำให้เกิดการระบาดที่รุนแรงต่อเนื่องมากกว่า 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564
สายพันธุ์เดลต้า ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความตื่นตัวของการฉีดวัคซีนอย่างมาก จนเกิดปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอความต้องการในบางช่วงเวลา แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มผ่อนคลายลงกลับเจอปัญหาการฉีดวัคซีนของประเทศมีสปีดที่ช้าลง รวมทั้งที่ผ่านมาได้เกิดความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือสถานการณ์ เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลสนาม ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมีความร่วมมือควบคุมโรค รวมถึงการวางแผนรับมือการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น โดยเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้เตรียมแผนการไว้ 5 ด้าน ทั้งมาตรการกำจัดการเข้าประเทศ การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังจะส่งมอบเพื่อขอวัคซีนรุ่นใหม่ การเตรียมยาและเวชภัณฑ์ การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อภาคการผลิต
การระบาดระลอกใหม่ไม่ใช่ประเด็นที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ เนื่องจากถึงแม้จะมีวัคซีนกระจายไปทั่วโลกแต่การระบาดยังมีอยู่ และทำให้มีการปรับแนวคิดจากการควบคุมโรคให้เหลือศูนย์ เป็นการอยู่ร่วมกันกับการระบาด บนหลักการที่ระบบสาธารณสุขรับมือกับจำนวนผู้ป่วยได้ ซึ่งมีความคาดหวังว่าการมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาในประเทศไทยจะมีการควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้มากที่สุด จะเป็นการลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจได้ เพราะถ้าประเทศไทยถูกระบาดรุนแรงเหมือนไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา จะยิ่งทำให้ประเทศฟื้นตัวช้าลง
สิ่งที่ต้องพิจารณาในขณะนี้ คือ ทรัพยากรในการรับมือของประเทศไทยไม่ได้มีสูงมาก โดยเฉพาะงบประมาณที่การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้งบประมาณหลักมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเหลือ 250,000 ล้านบาท ในขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลกู้เงินมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท และถ้าระบาดรุนแรงขึ้นจะเป็นโจทย์ที่ยากมากของรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศ