ประเมิน 252 รายจากแอฟริกา เสี่ยง"โอมิครอน"ระดับไหน หลังไทยเร่งติดตามตัว

ประเมิน 252 รายจากแอฟริกา เสี่ยง"โอมิครอน"ระดับไหน หลังไทยเร่งติดตามตัว

252 รายจาก 8 ประเทศแอฟริกาเสี่ยง “โอมิครอน”ระดับไหน สธ.แจงติดตามกลับมาตรวจRT-PCR  เพื่อความมั่นใจ  ย้ำความเสี่ยงต่ำมาก เหตุฉีดวัคซีนครบโดส-ก่อนออกจากแซนด์บอกซ์ตรวจหาโควิด-19แล้ว 3 ครั้ง

    เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19  ประเด็น “การเฝ้าระวังติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยง สกัดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน”นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  กรณีที่มีการติดตามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-30 พ.ย.2564 จำนวน 252 รายนั้น เป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในรูปแบบแซนด์บอกซ์ โดยมีการส่งข้อความติดตามทั้งผ่านแอปหมอชนะและอีเมล์ เนื่องจากผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกรายต้องแจ้งอีเมล์ในการขอThailand passเพื่อรับคิวอาร์โค้ด โดยแจ้งให้เข้าตรวจหาโควิด-19ด้วยวิธีRT-PCRที่รพ.รัฐได้ฟรี  ทั้งนี้ เบื้องต้นเขตสุขภาพที่ 6 รายงานสามารถติดตามได้แล้ว 10 ราย
       “การติดตาม 252 รายให้มาตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR และให้กักตัวจนครบ 14 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงไม่มาก เพราะเข้ามาในรูปแบบของแซนด์บอกซ์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19ครบโดสแล้วก็ลดความเสี่ยงลง และก่อนที่จะออกจากแซนด์บอกซ์มีการตรวจหาเชื้อแล้ว 3 ครั้งโดยทั้ง 3 ครั้งผลต้องไม่พบเชื้อทั้งหมด คือ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCRใน 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธีRT-PCR อีก 1 ครั้ง และก่อนที่จะออกจากแซนด์บอกซ์ในวันที่ 7 ก็มีการตรวจอีกครั้งแต่เป็นการตรวจด้วยATK  จึงจำเป็นต้องติดตามตัวเพื่อมาตรวจด้วยวิธีRT-PCRซ้ำในวันที่ 12 หรือ 13 กรณีที่เข้าประเทศไทยมายังไม่ครบ 14 วันเพื่อให้มั่นใจมากขึ้น ไม่ต้องวิตกกังวลเกินไป”นพ.เฉวตสรรกล่าว   

แอฟริกาเข้าไทยช่วง 14 วัน 786 ราย

       นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า ข้อมูลผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 15- 27พ.ย. และ 5 ธ.ค.2564  รวม 786 ราย แบ่งเป็น 1.กลุ่ม 8 ประเทศ เดินทางเข้ามาวันที่ 15-30 พ.ย.2564 รวม 333 ราย เป็นกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 255  ราย ออกจากประเทศแล้ว 3 ราย ยังอยู่ในไทย 252 ราย  และกลุ่มกักตัว 78 ราย ยังอยู่ในไทยทั้งหมด  และกลุ่มประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา เดินทางเข้ามาวันที่ 15 พ.ย. -5 ธ.ค. รวม 453 ราย เป็นกลุ่มแซนด์บ็อกซ์  321 ราย และกลุ่มกักตัว 132  ราย ออกจากประเทศไทยแล้ว 1 ราย

      ประเทศที่มีรายงานโอมิครอน 

        ประเทศที่มีรายงานพบสายพันธุ์โอมิครอน ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอตสวานา โมซัมบิก ซิมบักเว นามิเบีย  มาลาวี เอสวาทินิ เลโซโท  บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง  สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมัน สเปน  อิตาลี เนเธอร์แลนด์  เบลเยี่ยม สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย และเช็กเกีย

ระยะฟักตัวส่วนใหญ่5-7 วัน

      นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า มาตรการที่ประเทศไทยดำเนินการหลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้โอมิครอนเป็นสายพันธุ์น่ากังวล  คือ 1. 8 ประเทศ ไม่ให้มีการขอ Thailand pass เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564  และไม่ให้มีการเดินทางเข้ามานับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564  และ2.ประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา หลัง 1 ธ.ค.2564ยังเข้าประเทศไทยได้แต่ในรูปแบบกักตัว 14 วัน และตรวจซ้ำด้วยวิธีRT-PCRก่อนครบ 14 วัน  ขอให้มั่นใจในมาตรการ ในส่วนของผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้ ในราวต้นเดือนผ่านมาแล้ว 14 วัน   ไม่มีอาการป่วย ก็ค่อนข้างมั่นใจ เพราะแม้ระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 2-14 วัน  แต่เวลาส่วนใหญ่คือ  5-7 วันจะมีอาการเริ่มป่วย หากเกิน 7 วันไปแล้วก็ค่อนข้างน้อยซแต่มีได้ ไม่ควรกังวลเกินไป ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนและเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ยกการ์ดให้สูงไว้ก่อน   
1 เดือนต่างชาติเข้าไทยกว่า 1 แสนราย

    ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564  รูปแบบ Test & Go จำนวน 106,211 คน  Sandbox จำนวน 21,438 คน Quarantine 7 วันจำนวน 1,743 คน  Quarantine 10 วันจำนวน 3,654 คน  และ Quarantine 14 วัน จำนวน 15 คน  โดย 5 อันดับประเทศต้นทางที่เข้าไทยมากที่สุด คือ อเมริกา 14,730 ราย เยอรมนี 12,099 ราย เนเธอร์แลนด์ 8,478 ราย สหราชอาณาจักร 6,701 ราย และรัสเซีย 5,307 ราย
           ส่วนวันที่ 1 ธ.ค.2564 สะสม 6,304 ราย ติดเชื้อ 9 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.14 %  แยกเป็น รูปแบบ  Test & Go 5,598 ราย ติดเชื้อ 3 ราย  อัตราการติดเชื้อ 0.05%  รูปแบบแซนด์บอกซ์ 442 ราย  ติดเชื้อ 4 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.90 % และรูปแบบกักตัว 251 ราย ติดเชื้อ  2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.80 % โดยประเทศต้นทางที่มีอัตราการติดเชื้อมากที่สุด คือ มัลดิฟส์ 7.69 % รัสเซีย 3.54 % กัมพูชา 0.6% สหราชอาณาจักร 0.27 % เยอรมนี 0.25 % และอเมริกา 0.15 %  ส่วนประเทศต้นทางที่เข้ามามาก 10 อันดับแรก คือ  โรมาเนีย  820 ราย สหรัฐ 646 ราย เกาหลีใต้ 578 ราย ยูเออี 463 ราย   เยอรมนี  401 ราย สหาราชอาณาจักร 370 ราย   สิงคโปร์ 337 ราย สวีเดน 231 ราย ญี่ปุ่น 213 ราย และฟินแลนด์ 186 ราย  
       10 จังหวัดฉีดวัคซีนเข็ม 1สูงสุด 

   กรุงเทพมหานคร 117.3% ชลบุรี 89.9% สมุทรสาคร 89.6%  ภูเก็ต 86.6% ฉะเชิงเทรา 83.9 % เชียงใหม่ 83.8 % ปทุมธานี 81.7% สมุทรปราการ  80.7% สมุทรปราการ 80.7% ระนอง 78.1% และสงขลา 74.1%