Starfish แนะ5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยเด็กไทย
Starfish Education เปิดข้อเสนอ 5 มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยของเด็กไทย พร้อมมอบกล่องการเรียนรู้ Learning Box 150 กล่อง ให้กับ 5 เครือข่ายด้านการศึกษา มูลค่ารวมเกือบ 100,000 บาท ระบุ หัวใจของLearning Box เน้นการลงมือทำ รู้สึกสนุกที่ได้สร้างโจทย์ของตัวเอง เรียนรู้ได้ที่บ้าน
เมื่อเร็วนี้ Starfish Education ได้มอบกล่อง Learning Box ให้กับ 5 เครือข่ายด้านการศึกษา ได้แก่ มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก (Baan Dek Foundation) จำนวน 50 กล่อง และ โรงเรียนเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนบ้านวังศรี โรงเรียนบ้านกองแหะ โรงเรียนบ้านโป่งกุ่ม และโรงเรียนบ้านต้นส้าน โรงเรียนละ 20 กล่อง เพื่อเป็นตัวช่วยในการฟื้นฟูความรู้ถดถอย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ จากทั่วประเทศ
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education กล่าวว่าตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 อย่างที่เรารู้กันว่าผลกระทบนี้ทำให้เด็ก ๆ หลายคนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ (On-Site) ถึงแม้หลายโรงเรียนจะใช้วิธีการเรียนแบบทางไกล (Remote Learning) ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนแบบ Online, On-Hand, On-Demand, On-Air ตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการให้ข้อเสนอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเรียนรูปแบบเหล่านี้ ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของครอบครัว เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ หรืออินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) โดยที่ Starfish Education มุ่งให้ความสำคัญและแก้ไขผลกระทบจาก Learning Loss ต่อตัวเด็กใน 3 มิติ ดังนี้ ด้านวิชาการ ด้านพัฒนาการ และด้านอารมณ์และสังคม
- 5 ข้อมาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอย
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอ 5 มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอย (Education Recovery) ได้แก่
มาตรการที่ 1. ประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ (Landscape Assessment)
มาตรการที่ 2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Planning) เพื่อสร้างความพร้อมและความมั่นใจให้แก่บุคลากรของโรงเรียน
มาตรการที่ 3. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู (Professional Development Support for Teachers)
มาตรการที่ 4. การช่วยเหลือเด็กเรียนรายบุคคล (Intervention and Support for Students)
มาตรการที่ 5. การติดตามปรับปรุงและผลสะท้อนกลับ (Monitoring and Intervention Redesign)
ซึ่งโรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ดำเนินการทั้ง 5 มาตรการเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับการจัดการเรียนรู้ในสภาวะวิกฤตครั้งนี้ Learning Box คือหนึ่งในนวัตกรรมการศึกษา ตัวช่วยการฟื้นฟูความรู้ถดถอย ให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์โควิด 19
ดร.นรรธพร กล่าวต่อว่า Learning Box เป็นกล่องการเรียนรู้ ที่ Starfish Education ได้ออกแบบมาเพื่อให้คุณครู และผู้ปกครองยังสามารถการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในสภาวะวิกฤตนี้ได้ ซึ่งหลังจากที่โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึงเป็นโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรม ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับประเทศ ได้ทำผลสำรวจความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน แล้วพบว่ามีเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่พร้อมเรียนออนไลน์ ส่วนอีก 80% ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้
- "Learning Box" กิจกรรมเน้นเด็กลงมือปฎิบัติ
ต่อมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว จึงทำจัดประชุมคุณครู พร้อมทั้งวางแผนการจัดส่ง Learning Box ไปให้กับผู้ปกครองที่บ้าน โดยการสำรวจข้อมูลของนักเรียนในแต่ละชุมชน และให้ครูลงพื้นที่ในการช่วยเหลือเด็กๆทุกชุมชน เพื่อไปช่วยเหลือชุมชนในการอธิบายวิธีการ กระบวนการ และกิจกรรมใน Booklet ให้กับผู้ปกครองอาสาในชุมชน ซึ่งผู้ปกครองอาสาในชุมชนจะเป็นผู้ถ่ายทอดและคอยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนในชุมชน ทำให้นักเรียนยังคงได้พัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเหมือนเดิม
ดร.นรรธพร กล่าวต่อไปว่าลักษณะภายนอกของ Learning Box แบบฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ซึ่งนอกจากลักษณะภายในที่ดึงดูดใจเด็ก ๆ ตั้งแต่แรกแล้ว กิจกรรมภายในกล่องการเรียนรู้ก็ถูกออกแบบให้เหมาะสมสำหรับเด็ก 2 ช่วงวัย คือ ระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษา โดยเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ ซึ่งในกล่องของระดับอนุบาล จะประกอบไปด้วย Booklet มี 4 กิจกรรม ได้แก่ ชุดกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิตประจำวันให้แก่เด็ก ๆ ชุดกิจกรรม 3R อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และชุดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ (Makerspace) และชุดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะกายและใจ
ส่วนในกล่องของระดับชั้นประถมศึกษา จะประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ ชุดกิจกรรมแบบบูรณาการ (PBL) โดยให้นักเรียนเป็นคนเลือกหัวข้อเอง ชุดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ (Makerspace) และชุดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะกายและใจ นอกจากนี้ Learning Box ยังถูกแบบอย่างยืดหยุ่นเพื่อให้โรงเรียนต่าง ๆ ในเครือข่ายสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามบริบทของโรงเรียน เช่น บางโรงเรียนปรับเป็น Learning Bag เพราะเด็กๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยปรับจากกล่อง เป็นถุงผ้าเพื่อความสะดวกสบายสำหรับเด็ก ๆ ในการเคลื่อนย้ายมากกว่า
“หัวใจสำคัญของ Learning Box ไม่ใช่กล่องอุปกรณ์ แต่เป็นกิจกรรมภายใน Booklet ที่ให้เด็ก ๆ ได้มีประสบการณ์ในการลงมือทำ รู้สึกสนุกที่ได้สร้างโจทย์ของตัวเอง และเรียนรู้ได้เองที่บ้าน โดยมีผู้ปกครองหรืออาสาในชุมชนคอยช่วยเหลือการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ” ดร.นรรธพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม Starfish Education ส่งต่อ Learning Box ให้กับเครือข่ายการเรียนรู้ เมื่อปีที่ผ่านมามีโรงเรียนที่ได้รับ Learning Box ไปใช้เป็นจำนวน 140 โรงเรียน ผ่านการดำเนินงานโครงการร่วมกับเครือข่าย ซึ่ง Starfish Education หวังว่าจะขยายผลและส่งต่อนวัตกรรมการศึกษานี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นหนึ่งในตัวช่วยลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็ก ๆ และที่สำคัญคือเป็นตัวช่วยคุณครู และผู้ปกครองปรับวิธีการสอน ให้มุ่งเน้นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต ใส่ใจในสุขภายกายและใจของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น