#saveจะนะ เกิดอะไรขึ้นทำไมชาวบ้านถึงออกมาชุมนุม สู่การสลายการชุมนุม 6 ธ.ค.
สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "จะนะ สงขลา" การต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก่อนที่จะถูกสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 6 ธ.ค. 64 จนเกิด #saveจะนะ
แฮชแท็ก #Saveจะนะ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 6 ธ.ค. 64 ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ เกิดอะไรขึ้นกับอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำไมชาวบ้านต้องออกมาชุมนุม กรุงเทพธุรกิจออนไลน์สรุปมาให้แล้ว
- เรื่องก่อนที่จะสลายการชุมนุมม็อบจะนะ
ความเป็นมาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีที่มาตั้งแต่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2559 ที่ต้องการเปลี่ยน 3 พื้นที่ ได้แก่
อ.เบตง จ.ยะลา
อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส
อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะขยายรายได้และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้มีการประเมินการลงทุนไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท
เมื่อปี 2562 ครม.ก็อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะในเวลาต่อมาโดยมีเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่จะนะภายใต้การขยายพื้นที่สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมามีการต่อต้านโครงการจากคนในพื้นที่และมีการมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการ
- ม็อบ10ธันวา63 กลุ่มรักษ์จะนะหน้าทำเนียบ
ประชาชนจะนะ จ.สงขลา รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อ
1.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทันที เพื่อหยุดมรดกอันอัปยศอันไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช.
2.เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป
- รัฐบาลรับเรื่อง ออกปากชะลอนิคมจะนะ
จากการชุมนุมหน้าทำเนียบ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น) เจรจากับผู้ชุมนุม และเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการฯ
โดยสรุปว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้มีการทำหนังสือถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ยุติโครงการเป็นการยุติชั่วคราว
- ม็อบ 6 ธันวา ชุมนุมอีกครั้ง เรียกร้องความคืบหน้า
แต่เวลาผ่านไป 1 ปี รัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และยังเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นสำหรับประกอบอุตสาหกรรม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมกว่า 16,700 ไร่ และมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันไว้
ทำให้ชาวบ้านจะนะ ในนาม "จะนะรักษ์ถิ่น" ชุมนุมโดยสันติวิธีเพื่อมาทวงถามสัญญาจากรัฐบาลในการหยุดกระบวนการทุกขั้นตอนของ “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"
- 6 ธันวา กลางคืนคฝ. เข้าสลายการชุมนุมจะนะ
ช่วงเวลา เวลา 19.30 น ของวันที่ 6 ธันวา ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ประมาณ 100 นายบุกจับชาวจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีการจับกุมผู้ชุมนุมได้จำนวน 36 คน กลายเป็นข้อถกเถียงว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นการชุมนุมโดยสงบ
- โฆษกรัฐบาลแจ้ง นายกไม่ได้สั่งสลายการชุมนุม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากรณีตำรวจควบคุมฝูงชนบุกจับชาวจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้สั่งการใดๆ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและตามกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเสมอ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่มารวมตัวกันตั้งเต็นท์ กางผ้าใบ ทำเป็นหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักค้างคืน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดอยู่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน จากนั้นจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นชาย 6 คน และหญิง 31 คน ซึ่งเป็นการจับกุมซึ่งหน้า