สภาเด็กยื่น 5 ข้อถึง "อนุทิน"จี้เข้มมาตรการคุมน้ำเมาช่วงปีใหม่
สภาเด็กและเครือข่ายเยาวชน บุกยื่น 5 ข้อเรียกร้องถึง “อนุทิน” เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาขาดสติช่วงปีใหม่ 65 หวั่นเป็นสาเหตุทำเจ็บ - ตายบนท้องถนน ซ้ำก่ออาชญากรรมเพียบ เสี่ยงทำเกิดคลัสเตอร์โควิด
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจิรกิตติ์ เหมหิรัญ เลขาธิการสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาววศิณี สนแสบ แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ แกนนำเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง จำนวน 15 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาขาดสติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน ประชาชน ลดความสูญเสียเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท อันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายจิรกิตติ์ กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 28.40 % ของประชากร กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี พบมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 2.2 ล้านคน คิดเป็น 23.91% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มลดลงเลย นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการดื่มแบบหัวราน้ำ ดื่มหนัก ดื่มแบบทิ้งตัว ปัจจัยสำคัญของการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ คือสามารถเข้าถึงง่าย แม้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีโทษสูง จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กลับพบผู้ประกอบการร้านเหล้า ร้านค้ารายย่อยมากกว่า 96 % มีการฝ่าฝืนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก และคนเมาครองสติไม่ได้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย
นายจิรกิตติ์ กล่าวต่อว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสีย เจ็บ-ตายจากปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท และปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ ซึ่ง จากข้อมูลปี 2554-2563 พบผู้มีอายุ 20-24 ปี ดื่มแล้วขับสูงสุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก ประกอบกับเป็นเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ จึงทำให้สถิติความสูญเสียที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด -19 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดสติ จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นคลัสเตอร์ ดังที่มีตัวอย่างจากการระบาดในหลายระลอกที่ผ่านมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้มงวดกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้าน นางสาววศิณี กล่าวว่า ดังนั้นวันนี้เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้ดำเนินการดังนี้ 1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยการให้ร้านเหล้า ผับ บาร์ ร้านค้า ตรวจบัตรประชาชนผู้ซื้ออย่างเคร่งครัดเพื่อตัดวงจรการขายให้เด็ก โดยเฉพาะเมื่อดูจากสรีระร่างกายของผู้ซื้อแล้วยังไม่ชัดเจนเรื่องอายุ 2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขออกหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน กรณีห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาขาดสติ ที่ปฏิบัติได้จริง วัดผลได้ เพื่อรับมือการกินดื่มช่วงเทศกาลปีใหม่ ปกป้องเด็ก เยาวชน ประชาชน ลดความสูญเสียอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในส่วนของผู้ขายจะได้มีแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง
3. เครือข่ายเป็นห่วงว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น และย่อมส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทะเลาะวิวาท สร้างความสูญเสียเจ็บตาย ตลอดจนความเสี่ยงในการตั้งวงรวมกลุ่มกินดื่มอาจนำไปสู่การเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อโควิด-19 จึงขอเรียกร้องผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งมีมาตรการเชิงรุก เป็นยาแรงเพื่อล้อมคอกก่อนเกิดปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.ขอวิงวอนผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด หยุดหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชน และปฏิบัติตามข้อกำหนดทางสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19 และ 5. ขอเชิญชวนเพื่อนเยาวชน ประชาชน ช่วยกันเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ
“เครือข่ายฯ ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนงดตั้งวงกินดื่ม เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงในทุกมิติ รวมถึงโควิด-19” นางสาววศิณี กล่าว
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า สธ.โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเพราะตระหนักดีว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุของอาชญากรรม ความรุนแรง และอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกับสำนักงานตำรวชแห่งชาติ
กำชับทุกพื้นที่ให้ตรวจเข้มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หากเกิดอะไรขึ้นจะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปยังร้านที่ขาย และเอาผิดถึงผู้ปกครองด้วย ส่วนกรณีห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้นั้น ก็จะมีการกำชับเพิ่มเติม โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด กรณีจัดงานหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง ป้องกันตัวเองขึ้นสูงสุด และฉีดวัคซีนก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ แพร่เชื้อได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้เครือข่ายฯ ช่วยเห็นหูเป็นตา หากพบการทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.