ไทยพบ "โอมิครอน"เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 1 สัปดาห์
สธ.เผยไทยเจอผู้ติดโอมิครอน 63 ราย สัดส่วนเจอเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากสัปดาห์ก่อนขยับจาก 1 % เป็น 3 % แพร่จาก 1 คนไปได้ 8.5 คน เกิดแล้ว 3 สายพันธุ์ย่อย ผู้เดินทางเข้าไทยตรวจเจอเชื้อ 1 ใน 4 เป็นโอมิครอน
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 และการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการรายงานพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 89 ประเทศ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ เนื่องจากบางประเทศไม่สามารถตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรมได้ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาพบแล้ว 36 รัฐ
ส่วนสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนขณะนี้พบ 3 สายพันธุ์ที่มีการรายงานเข้าระบบถังกลางของโลก ส่วนใหญ่ยังเป็น BA1 จำนวน 6 พันกว่าราย BA2 พบ 18 ราย และ BA3 พบ 5 ราย การตรวจหาโอมิครอนด้วยวิธีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการตรวจเบื้องต้น 5 ตำแหน่ง ยังคงสามารถตรวจหาโอมิครอนและสายพันธุ์ย่อยพบ
1 คนแพร่ไปได้ 8.5 คน
การประเมินการแพร่กระจายการระบาดของโรค หรือค่า R0 ที่ผู้ติดเชื้อ 1 คน จะทำให้คนติดเชื้อต่อได้กี่คนนั้น มีการศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า สายพันธุ์อู่ฮั่นค่าอยู่ที่ 2.5 สายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 6.5 ถือว่าไวขึ้น ส่วนโอมิครอนเพิ่มขึ้นเป็น 8.54 ถือว่าเร็วกว่าเดลตา สุดท้ายอาจเบียดเดลตาไปได้ แต่อาจต้องใช้เวลา
สำหรับความรุนแรง จากแอฟริกาใต้ พบว่า การระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่อัตราการนอน รพ. ป่วยหนัก และเสียชีวิตยังไม่เห็นเพิ่มขึ้นจากเดิม จึงยังมีข้อมูลจำกัดว่าโอมิครอนทำให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากกว่าเดลตาหรือไม่
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โอมิครอนอาจมีผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน ป้องกันอาการรุนแรงลดลง แต่ไม่กระทบต่อ T Cell และ B Cell ซึ่งสำคัญต่อการป้องกันเชื้อ การฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งประเทศไทยพยายามกระตุ้นให้รับวัคซีนเข็ม 3 ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยไวรัลเวคเตอร์ หรือ mRNA ถ้าบูสต์จะเกิดภูมิมากขึ้นเพียงพอ ซึ่งงานวิจัยของฮ่องกง การฉีดวัคซีน mRNA พบประสิทธิผลต่อโอมิครอนลดเหลือ 30% แต่พอบูสต์ก็กลับขึ้นมา 70% ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังเพาะเชื้อนำมาทดลองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆของคนไทย ว่ายับยั้งเชื้อโอมิครอนมากน้อยแค่ไหน คาดว่าปีใหม่จะได้ผลออกมา
1 สัปดาห์เจอโอมิครอนเพิ่ม 3 เท่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์โอมิครอนในประเทศไทย จากการตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 11-19 ธ.ค. 2564 จำนวน 1,595 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา 1,541 ราย คิดเป็น 96.61% อัลฟา 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.06% เบตา 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.06% และโอมิครอน 52 ตัวอย่าง คิดเป็น 3.26% ซึ่งเมื่อรวมกับที่ตรวจก่อนหน้านี้ ทำให้พบโอมิครอนแล้ว 63 ราย แต่ยังเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด โดยเจอเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่เจอไม่ถึง 1% โดยเป็นผู้ติดเชื้อจากการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อนำมาตรวจสายพันธุ์พบว่า 1 ใน 4 เป็นโอมิครอน ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว
1ใน 4 ติดเชื้อเข้าไทยเป็นโอมิครอน
สรุปว่า 1.พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก 2.ทุกรายยังเชื่อมโยงการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ยังไม่มีการติดเชื้อเริ่มต้นในประเทศ 3.สัดส่วนของผู้เดินทางเข้าประเทศทุกระบบที่พบติดเชื้อ พบว่าเป็นโอมิครอน 1 ใน 4 4.การตรวจ RT-PCR ก่อนมาไทย 72 ชั่วโมง และตรวจ เมื่อถึงเมืองไทยอีกครั้งเดียว ยังทำให้ผู้ป่วยหลุดไปได้ เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว อาจพิจารณาปรับมาตรการ Test&Go เพราะถ้ามีกรณีหลุดแบบนี้ แล้วเกิดไม่มีอาการป่วย ไม่เข้า รพ.ก็อาจหลุด และติดเชื้อในประเทศได้ และ5.การตรวจจับสายพันธุ์แบบเบื้องต้นและแบบยืนยัน ยังตรวจับโอมิครอนได้ ไม่มีหลุดรอด การบูสเตอร์ด้วยวัคซีนยังจำเป็นไม่ว่าฉีดสูตรไหน ต้องบูสเตอร์โดยเร็ว และใครยังไม่ฉีดแม้สักเข็มก็ควรรีบมาฉีดให้มีภูมิเพิ่มขึ้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์