กรม สบส. เตรียม ด่านชุมชน สกัดอุบัติเหตุ "ปีใหม่" เจ็บตายเป็นศูนย์
"กรม สบส." ร่วมภาคีเครือข่าย จัดทำแนวทางการประเมิน คัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาสุรา ถ่ายทอดเครือข่าย อสม. 1.05 ล้านคน เตรียมด่านชุมชน สกัดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต ในช่วงเทศกาล "ปีใหม่" 2565 เป็นศูนย์
วันนี้ (29 ธ.ค. 64) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ (29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565) กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ ปีใหม่ 2565 ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ซึ่ง กรม สบส. ในฐานะหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.
จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำแนวทางการประเมิน และคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาสุรา ถ่ายทอดให้เครือข่าย อสม. ที่มีจำนวนกว่า 1.05 ล้านคน ทั่วประเทศ ได้นำไปใช้ปฏิบัติ ณ ด่านชุมชน พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้อง อสม.ในการร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การลดอุบัติเหตุ ภายใต้แนวคิด ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เกิดการบาดเจ็บ เสียชีวิต จากอุบัติเหตุที่มาจากการมึนเมาสุราของผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นศูนย์
นอกจากการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ พี่น้อง อสม.ก็จะช่วยเฝ้าระวัง สอดส่อง การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุ ต่ำกว่า 20 ปี เพื่อป้องกัน และลดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาทจากการเมาสุราในกลุ่มเยาวชน
- อสม. สังเกตอาการมึนเมา
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของ อสม.ประจำด่านชุมชนนั้น นอกจากการร่วมตั้งด่านกับฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว อสม.ยังมีบทบาทในการทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น โดยการสังเกตลักษณะทางกายภาพ อาทิ มีอาการเดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นสุรา และให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะประเมินอาการมึนเมาสุรา เบื้องต้นด้วย
- วิธีการปฏิบัติ
1. “แตะจมูกตัวเอง” ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตาหากแตะจมูกที่ปลายจมูกไม่ได้แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะเมาสุรา
2. “เดินแล้วหัน” ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้ส้นชิดปลายเท้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าวหากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ต้องใช้แขนช่วยพยุงหรือล้มเซ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา
3. “ยืนขาเดียว” ยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 เซนติเมตร เริ่มนับ 1000, 1001, 1002... จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซวางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัวแสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา อสม.จะให้นั่งพักและประเมินซ้ำทุกๆ 30 นาที หากอาการไม่ดีขึ้นจะติดต่อให้ญาติมารับกลับที่พักต่อไป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์