"โอมิครอน"กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประหนึ่งวัคซีนเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์
นักวิชาการชี้"โอมิครอน"ไม่เหมือน"เดลตา"
แพร่เร็วจากนั้นจะลดลง กระตุ้นภูมิคุ้มกันประหนึ่งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า เริ่มเห็นประเทศที่ติดเชื้อมาก่อน เช่น แอฟริกาใต้สถานการณ์ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงมาก เนื่องจากในแอฟริกาใต้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติจำนวนมาก การติดเชื้อ ตามธรรมชาติ จะกระตุ้นแอนติบอดี IgA ซึ่งอยู่ในปอดนานกว่า ลักษณะเช่นนี้จะพบเห็นในประเทศที่มีการติดเชื้อโดยธรรมชาติจำนวนมาก อย่างเช่น อิหร่านก็เป็นเช่นนี้ เมื่อมีผู้ติดเชื้อมาก จากนั้นก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ T-cell ยังมีเต็มประสิทธิภาพ บวกกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้อาการลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น โอมิครอนดูโดยภาพรวมหลังจากทยอยแพร่ระบาดทั่วโลก จากนั้นอาการและผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็วไม่เหมือนเดลตา
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า ฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือGISAID มีการอัพโหลดไวรัสโควิด-19 กว่า 6.6 ล้านตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์โอมิครอนจำนวนกว่าหมื่นตัวอย่าง ในส่วนของประเทศไทยซับมิทสายพันธุ์โอมิครอนเข้าไปยังน้อยอยู่ แต่ที่เห็นมีการตรวจพบจำนวนมากในขณะนี้เป็นการตรวจแบบ PCR ยังไม่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม ต้องใช้เวลา ลักษณะโดยทั่วไปของโอมิครอนที่มีรายงาน พบการเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า แต่ไม่แพร่ลงลึกไปทำลายเซลล์ปอด จึงทำให้แพร่เร็ว
ขณะเดียวกันก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นกัน ทำหน้าที่ประหนึ่งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ ทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีขึ้นมาที่เป็น IgA ส่วนการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ จะกระตุ้นแอนติบอดี IgG และ IgM ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติ เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจจะกระตุ้นแอนติบอดี IgA ซึ่งจะอยู่ในปอดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า เพราะฉะนั้นการใช้วัคซีนต่อไปในอนาคตอาจจะต้องคำนึงเส้นทางการติดเชื้อด้วย
" วัคซีนที่พบจากโอมิครอนเป็นบทเรียนให้เห็นว่า กรณีที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือเป็น mRNA เน้นเฉพาะส่วนของหนามแหลมอย่างเดียวจึงยังมีความสุ่มเสี่ยง เพราะโอมิครอนเวลากลายพันธุ์ในส่วนของหนาม แอนติบอดีจับไม่ได้ แอนติบอดีสังเคราะห์หลายตัวก็ทำงานไม่ได้ ตัวโอมิครอนจึงเปรียบเสมือนตัวที่เข้ามาเติมเต็มทำให้กลายเป็นวัคซีนครบสูตรทั้งเชื้อตาย เชื้อไวรัสเป็นพาหะ mRNA และเชื้อเป็นที่อ่อนกำลัง อาจเรียกได้ว่าเป็นซุปเปอร์วัคซีนที่ดึงเอาส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนามแหลม เปลือกของไวรัสเข้ามาด้วย แล้วฉีดเข้าไป" ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายคนกังวลฉีดเข็มกระตุ้น ขณะที่โอมิครอนดูเหมือนอาการไม่รุนแรง ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าประเทศในแอฟริกาหลายประเทศประชากรมีอายุเฉลี่ยเพียง 50-60 ปี ยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นประเทศไทยคงต้องรอข้อมูลจากอังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งประชากรมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 75 ปีระยะหนึ่ง ว่าผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเมื่อติดเชื้อโอมิครอนแล้วมีอาการไม่รุนแรงเช่นกัน ถึงจะสรุปลงไปได้ว่าโอมิครอนไม่ก่อโรครุนแรง
" ช่วงนี้เมื่อครบกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ควรไปฉีดกันไว้ก่อน หากกังวลเรื่องผลข้างเคียงอาจพิจารณาฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งอาจมีอาการคันบริเวณที่ฉีดบ้าง แต่ผลข้างเคียงมีน้อยกว่า ประเทศในแอฟริกาเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนการฉีดวัคซีนเข็ม1และ2 เพื่อป้องกันการป่วย การเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งป้องกันการเกิดไวรัสกลายพันธุ์ โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ อย่าประมาทการ์ดต้องไม่ตก เพราะองค์ความรู้ยังน้อย ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จะตั้งสมมติฐานหรือคาดคะเนจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้เท่านั้น"ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
เมื่อถามว่าโอมิครอนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะตัวโอมิครอนทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว และติดไปทั่วโลก ทำให้มีการรณรงค์เร่งการฉีดวัคซีน เพราะโอมิครอนไปถึงทุกที่ ขณะที่โอมิครอนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างภูมิตามธรรมชาติ จะเห็นข้อมูลจากแอฟริกาใต้ภายใน 1-2 เดือนผู้ติดก็ลดลง ก็เหมือนที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คาดคะเนใน 6 เดือนแรกนี้น่าจะเห็นชัดถึงแนวโน้ม และ 6 เดือนหลังจะชี้ชัดได้ว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะขณะนี้ยังไม่มองไม่เห็นว่าจะมีตัวไหนที่จะแพร่ระบาดเข้ามาอีก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเน้นเรื่องของการฉีดวัคซีนทั่วโลก แม้หลายคนยังกังวลถึงความเสี่ยง แต่ฉีดเป็นการป้องกันการระบาด ป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัส ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ ที่เราพบไวรัสกลายพันธุ์ซึ่งก่อนหน้านี้คิดว่าจะจบที่เดลตาแล้ว แต่กลับมีโอมิครอนขึ้นมา เพราะว่าในแอฟริกาใต้การฉีดวัคซีนน้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นแหล่งที่ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ดี ยิ่งไวรัสเพิ่มมากก็ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้นวัคซีนนอกจากป้องกันความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิต ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็นอีกเหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีน อาจจะไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่เพื่อคนทั้งโลกไม่ให้เกิดโอมิครอนกลายพันธุ์ซ้ำเข้าไปอีก วัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะควบคุมไวรัสทำให้กลายเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่น เป็นการควบคุมโรคให้เร็วขึ้น หากไม่ฉีดก็อาจจะยืดยาวไปอีก ทั้งนี้ทั่วโลกจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ตามที่ WHO ตั้งเป้าไว้จึงจะสัมฤทธิผล แต่หากปล่อยให้ประเทศที่มีศัยกภาพสูงฉีดไป 3-4 เข็ม แต่ประเทศที่ด้อยกำลังไม่ได้รับการฉีดหรือฉีดน้อยก็จะยังคงเป็นปัญหา เพราะไวรัสตัวใหม่รออยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีภูมิคุมกันตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนไวรัสตัวใหม่ก็มาแน่