“กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งคลอง ในสมัยก่อนใช้สัญจรและระบายน้ำ ชีวิตคนอยู่กับคลอง เมื่อความเจริญของเมืองเข้ามา คลองจึงเป็นแค่ที่ระบายน้ำ
กทม. ได้พัฒนาคลองให้ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าที่ระบายน้ำเพียงอย่างเดียว โดยทำให้เป็นสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เป็นเป็นที่พักผ่อนของคนเมือง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ในเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน เรื่อง พัฒนาคลองระบายน้ำให้เป็นสวนสาธารณะคลองใจกลางเมืองย่านธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ถึงที่มาของคลองช่องนนทรี
“ใช้คลองเชื่อมคน ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผมมาตรวจดูความคืบหน้าของการก่อสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 ถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้ในวันที่ 25 ธ.ค.64”Cr.กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี มีลักษณะเป็นทางเดินบนคลอง มีลานกิจกรรม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มี น้ำตก ซึ่งเป็นน้ำจากในคลองที่บำบัดแล้ว แยกจากน้ำทิ้งออกไป
สถานที่แห่งนี้นับเป็น สวนสาธารณะคลองแห่งแรก ของประเทศไทย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีระยะทางสองฝั่งรวม 9 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 ช่วง ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนสิงหาคม 2565
หลังเปิดเฟสแรกให้ประชาชนใช้บริการวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ก็มีทั้งเสียงชมและเสียงตำหนิ ว่า ใช้งบประมาณมากถึง 980 ล้านบาท
ซึ่งสิ่งที่ปรากฎอยู่นี้เป็นเพียงส่วนที่ 2 ของโครงการ จากทั้งหมด 5 ส่วน และใช้งบ 80 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท
Cr.กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี มีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระรามที่ 3
ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 15 เมตร การดำเนินโครงการฯ แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้
“ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท
ช่วงที่ 2 จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท
ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1,600 เมตร วงเงินงบประมาณ 370 ล้านบาท
ช่วงที่ 4 จากถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1,000 เมตร วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท
ช่วงที่ 5 จากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท
เมื่อเฉลี่ยงบประมาณทั้งโครงการจะเป็นการลงทุน 7,000 - 8,000 บาท/ตารางเมตร ตลอดแนวโครงการทั้ง 5 ช่วง มีโครงสร้างเสาเข็มค้ำยันเขื่อนเป็นฐานรองรับที่แข็งแรง มีการขุดลอกคลอง ลดโคลนตมสะสมลดกลิ่นเหม็นของน้ำคลองได้
งานก่อสร้างสวนสาธารณะในคลองช่องนนทรี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ รวมถึงการปรับปรุงทางเท้าบริเวณโดยรอบและส่วนต่อเนื่อง ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานก่อสร้างและปรับปรุงลานกิจกรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
Cr.กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
200 เมตรแรก จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 (ช่วงที่ 2) ดำเนินการเสร็จแล้วเปิดให้ใช้ตั้งแต่ 25 ธ.ค. 64 ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ
เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่รองรับคนใช้บริการวันละกว่า 1 แสนคน และ BRT 1-1.5 หมื่นคน/วัน รวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานบริเวณใกล้เคียงกว่า 2.3 หมื่นคน
จุดนี้จึงมีการออกแบบให้มีความโดดเด่นแปลกตา โดยเฉพาะโซนลานกิจกรรม มีการติดตั้ง 3 D Printing ผนังน้ำตก ระบบน้ำล้น (Fog) ทำทรายล้าง ปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้น้ำนานาชนิด ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและไฟประดับ
โซน sky walk ปูหินแกรนิตพื้นทางเดิน ติดตั้งราวกันตกทางเดิน ปลูกต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่ม ทำทางพื้นคอนกรีตเป็นทางเดินเข้าสวนฯ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี และ BRT
ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับช่วงที่ 2 อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา หาผู้รับจ้าง ส่วนอีก 3 ช่วงที่เหลือจะดำเนินการหาตัวรับจ้างต่อไป คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565
Cr.กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง
ผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กล่าวว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น
“พัฒนาทางสาธารณะ และปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในระยะยาว เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นเส้นทางออกกำลังกาย รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน
ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
การพัฒนาคลองช่องนนทรี ไม่เพียงปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการทำให้คลองให้มีประโยชน์มากกว่าทางระบายน้ำ
โดยแยกน้ำเสียแยกออกจากน้ำดี นำน้ำเสียมาบำบัดแล้วใช้ไล่น้ำเสียในคลองสายอื่นที่เชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี ทำให้มีศักยภาพลำเลียงน้ำในฤดูฝนได้ดียิ่งขึ้น
เป็นจุดเริ่มต้มของโครงข่ายการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสีฟ้าเขียว ซึ่งจะเชื่อมต่อเส้นคลองสาทร สู่สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ สู่คลองแสนแสบและคลองเตย ที่เชื่อมต่อหากันทั้งหมด”
.....................
ข้อมูลเพิ่มเติม ดูได้ที่ เพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์”