เปิดขั้นตอนนำคนติดโควิดโอมิครอนเข้าระบบรักษา เตียงได้กว่า5.2หมื่นต่อวัน
สธ.เผยขั้นตอนนำผู้ติดโควิด19ยุคโอมิครอนเข้าระบบรักษา มีเตียงรองรับวันละกว่า 5.2หมื่นเตียง
ส่วนกทม.ปริมณฑลอัตราครองเตียงล่าสุด 18 % 10จังหวัดต้องพร้อมมากขึ้น เหตุฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงยังต่ำ
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบรักษาส่วนใหญ่ยังเป็นติดเชื้อเดลตา แต่ไม่ว่าจะติดสายพันธุ์เดลตาหรือโอมิครอน คนป่วยจะเป็นผู้ที่ยังรับวัคซีนโควิด-19ไม่ครบ เพราะฉะนั้น จังหวัดที่ยังฉีดวัคซีนได้น้อยในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ต้องเตรียมการรักษาให้พร้อม โดยมี 10 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จะต้องเตรียมทั้งรพ. และการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation:HI) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation:CI) เนื่องจากอาการผู้ป่วยในวัยทำงานและฉีดวัคซีนครบ แม้อาการไม่รุนแรง แต่ต้องกักตัวรักษาไม่ให้แพร่เชื้อต่อผู้อื่น และต้องติดตามอาการต่อเนื่อง และหากอาการหนักสามารถส่งต่อรพ. เข้ารักษาได้ทันที รวมถึง จังหวัดอื่นๆด้วยต้องเตรียมพร้อม
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิดหลังปีใหม่ ว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาด ซึ่งพบว่าขณะนี้เข้าสู่ระลอห 5 แล้ว ระบบการรักษา ขณะนี้มีเตียงรองรับทั่วประเทศวันละ 52,300 เตียง ในส่วนกทม.และปริมณฑลขณะนี้มีเตียงว่างรองรับ 25,828 เตียง หากเป็นไปตามกรมควบคุมโรคได้ประเมินฉากทัศน์ หากมีผู้ป่วยโควิดสูงสุดถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ทางกรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา ขณะเดียวกันแนวทางรักษาผู้ป่วยหลังจากนี้จะเน้นย้ำไปที่ Home Isolation(HI) และCommunity Isolation(CI) เป็นการรักษาแรก แต่หากมีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังรพ.ที่มีเตียงรองรับต่อไป
“วันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อในระบบกว่า 3,899 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจ ATK อีกกว่า 3 พันราย ก็ประมาณ 7 พันราย ซึ่งมีการรายงานแยกออกมา ทั้งนี้ เรามีระบบติดตาม โดยกรณีหากตรวจ ATK เป็นบวกที่บ้านให้ติดต่อสายด่วนสปสช. 1330 เมื่อติดต่อแล้วภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ ว่า หากรักษาที่บ้านใน HI ได้ ก็รักษาที่บ้าน หากไม่ได้ให้รักษาที่ CI ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขต กรุงเทพมหานครทุกเขตมีการจัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการจัดเตรียม CI สำหรับเด็กและแรงงานต่างด้าวได้แล้วเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในรอบนี้จะเน้นการรักษาที่บ้าน (HI) และศูนย์ดูแลในชุมชน (CI) และประสานเข้าระบบผ่าน 1330 ซึ่งจะดำเนินการจับคู่รพ.ให้ และประเมินอาการว่าควรอยู่ที่บ้านหรือส่งต่อรักษาในรพ. รับประกันว่าภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หากคลินิกไหนทำไม่ได้ก็จะดำเนินการถอดออกจากระบบการดูแล แต่หากอาการหนักให้โทร 1669 เพื่อรับส่งต่อรักษาในรพ. ส่วนในต่างจังหวัด แม้จะสามารถโทร 1330 ได้ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ล่าสุด นพ.เกียรติถูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ทางจังหวัดเตรียมศูนย์ประสานงานเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัดแล้ว ซึ่งอาจมีเบอร์ติดต่อเฉพาะของแต่ละจังหวัดเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการเตรียมพร้อม CI ในเด็ก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่ารอบนี้จะเกิดการระบาดในเด็กมาก เพราะเด็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ย้ำว่าเด็กติดได้แต่อาการไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว ขณะนี้มีการประสานกทม.ให้มีการจัดทำเตียง CI สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง และ 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้ พร้อมทั้งมอบสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีในการเตรียมยาน้ำฟาวิราเวียร์สำหรับเด็กทั่วประเทศ โดยรพ.แต่ละแห่งสามารถทำได้เอง ไม่ต้องสำรอง พร้อมทั้งจัดหมอเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย นอกจากนี้ CI สำหรับแรงงานต่างด้าวด้วยโซนละ 1 แห่ง แห่งละประมาณ 100 เตียง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเพจเส้นด้าย ระบุว่ามีคนโทรหาวันละ 3 พันกว่าคน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับเพจต่างๆมาตลอด อย่างเพจเส้นด้ายก็เช่นกัน ซึ่งล่าสุดเลขาธิการสปสช.ให้ข้อมูลว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีคนโทรหา 1330 จำนวน 4 พันราย เป็นคนไข้ 190 ราย ส่วนที่มีคนติดต่อไปทางเพจเส้นด้าย คาดว่ามาจากคนในชุมชนที่รู้จักมีการติดต่อโดยตรง ซึ่งขอยืนยันว่า สามารถโทรมาทาง 1330 เพื่อประสานติดต่อกับภาครัฐได้ เราเตรียมพร้อมระบบรองรับแล้ว
ภาพรวมการครองเตียงผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 18.5%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสถานการณ์เตียงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุด วันที่ 4 ม.ค. รวมทุกประเภท รวม 31,701 เตียง ครองเตียงแล้ว 5,873 เตียง แบ่งเป็น 1. เตียงไอซียู ห้องความดันลบ รวม 232 เตียง ครองเตียง 65 เตียง ว่าง 167 เตียง อัตราครองเตียง 28%
2. ห้องดัดแปลงความดันลบ รวม 1,184 เตียง ครองเตียง 456 เตียง ว่าง 728 เตียง อัตราครองเตียง 38.5%
3. ห้องไอซียูรวม รวม 470 เตียง ครองเตียง 30 เตียง ว่าง 440 เตียง อัตราครองเตียง 6.4%
4.ห้องแยกโรค รวม 3,964 เตียง ครองเตียง 929 เตียง ว่าง 3,035 เตียง อัตราครองเตียง 23.4%
5. ห้องสามัญ รวม 8,223 เตียง ครองเตียง 1,952 เตียง ว่าง 6,271 เตียง อัตราครองเตียง 23.7%
6. ฮอลพิเทล รวม 16,084 เตียง ครองเตียง 2,278 เตียง ว่าง 13,806 เตียง อัตราครองเตียง 14.2%
7.เตียงสนาม รวม 1,544 เตียง ครองเตียง 163 เตียง เตียงว่าง 1,381 เตียง อัตราครองเตียง 10.6%