เช็ค แนวทาง สธ. ดูแลป่วยโควิด "โอมิครอน" รักษาตัวที่บ้าน “Home Isolation"

เช็ค แนวทาง สธ. ดูแลป่วยโควิด "โอมิครอน" รักษาตัวที่บ้าน “Home Isolation"

การระบาดของ "โอมิครอน" ทำให้ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมทั้งระบบการส่งต่อ การรักษา ยา วัคซีน และโรงพยาบาลรองรับ รวมไปถึงการรักษาตัวที่บ้าน "Home isolation" และรักษาตัวในชุมชน "Community isolation" ในผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก

หลังจากที่ “โอมิครอน” ระบาด เกิดความกังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะ ช่วง2 สัปดาห์แรกของการเปิด “ปีใหม่” นับว่าอยู่ในระยะที่ ศบค. และ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวัง โดยเฉพาะการระบาดของ “โอมิครอน” ซึ่งมีการแพร่ระบาดรวดเร็ว ทำให้ในตอนนี้หลายฝ่ายมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการระบาด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเตียง ยารักษา เร่งการฉีดวัคซีน และการรองรับผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน "Home isolation" และรักษาตัวในชุมชน "Community isolation"

 

รวมถึงการเข้มมาตรการหลัง ปีใหม่ ที่มีผู้เดินทางจากจังหวัดเสี่ยงกลับเข้าทำงาน โดยเน้นย้ำให้มีการตรวจ ATK และ ทำงานที่บ้าน (Work from home) ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะอาการผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ในไทย ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัด และอาการน้อยไม่รุนแรง โดยเน้นย้ำแนวทางรักษาหลักอาการน้อย ไม่มีอาการ เข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน

 

  • 8 อาการ “โอมิครอน”

 

จากข้อมูลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอนในไทย พบว่า อาการไม่แตกต่างจากโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไข้ เจ็บคอ ไอแห้งร ะยะการแพร่เชื้ออยู่ที่ 2-3 วันก่อนมีอาการ และ 3 ถึง 5 วันหลังมีอาการ พบบางรายมีอาการปอดอักเสบแต่ไม่มากนัก โดยรักษาด้วยยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ หลังมีอาการภายใน 3 วัน โดยพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ สำหรับ 8 อาการที่พบมากที่สุด ในผู้ป่วย 41 ราย มีอาการเล็กน้อยไม่มีปอดอักเสบ 34 ราย

 

• ไอ ร้อยละ54

• เจ็บคอ ร้อยละ 37

• มีไข้ ร้อยละ29

• ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 15

• มีน้ำมูก ร้อยละ 12

• ปวดศีรษะ ร้อยละ10

• หายใจลำบาก ร้อยละ5

• ได้กลิ่นลดลง ร้อยละ 2

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ใน 2-3 วัน ก่อนมีอาการป่วย และในช่วง 3-5 วันหลังมีอาการป่วย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิคสายพันธุ์โอมิครอน จำนวนไม่มาก มีเพียง 7 รายที่มีอาการปอดอักเสบ และ 2 ราย ความดันออกซิเจนในร่างกายลดลง ผู้ที่มีอาการหนัก ไม่มีรายใดต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และไม่มีผู้เสียชีวิต

 

“อาการโดยรวมของผู้ป่วยโอมิครอน จะมีอาการคล้ายกับหวัดทั่วไป โดยอาการไข้จะไม่ใช่อาการหลักในการคัดกรองผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน อีกต่อไป หากประชาชนมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด ให้ทำการตรวจหาเชื้อโดยวิธี ชุดตรวจ คัดกรองโควิด ATK เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น ก่อนประสานเข้าสู่ระบบการรักษา”

 

  • ตรวจพบเชื้อโควิดต้องทำอย่างไร

 

สำหรับประชาชน ที่ซื้อชุดตรวจคัดกรอง โควิด-19 แอนติเจนเทสคิด (ATK) ไปตรวจด้วยตัวเอง แล้วพบผลบวก สิ่งสำคัญ ให้ตั้งสติ อยู่บ้าน แล้วประเมินอาการตนเองว่าอยู่ในระดับไหน หากอาการน้อยไม่มีอาการ โทรไปที่ 1330 ทาง สปสช. ยืนยันแล้วว่าภายใน 6 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับโดยจะมีการจับคู่กับคลินิคฯ ในการรักษาที่บ้าน

 

  • 3 ช่องทางเข้าระบบ "Home Isolation"

 

ทั้งนี้ ระบบ Home Isolation เป็นบริการที่ครอบคลุมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกสิทธิการรักษา ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบด้วย 3 ช่องทาง ดังนี้ 

1. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14

2.กรอกข้อมูลด้วยตนเอง ที่ลิงค์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI

3. Line สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6  หลังจากเพิ่มเพื่อนไลน์ @nhso ให้กดเมนู บริการเกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากนั้นเลือกหัวข้อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม Support Covid-19 ทั้งในส่วนข้อมูลบุคคลและข้อมูลผู้ป่วย Covid-19

 

สำหรับคนที่มีอาการหนัก มีภาวะฉุกเฉิน โทร 1669 จะมีเจ้าหน้าที่ประสานนะเข้าระบบการรักษาเตียงในโรงพยาบาล

  • การรักษาป่วยโควิด“โอมิครอน”

 

กรมการแพทย์ จัดทำเผยแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 มกราคม2565 เนื่องจากในช่วงปลายปี2564 พบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” แพร่ระบาดในวงกว้าง พบว่า อาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของ โรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้

 

  • ป่วยโควิดไม่เข้า รพ.แยกตัว10 วัน

 

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่น ขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือ ตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วัน แล้วยังมีอาการควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทั้งนี้สามารถ ปรึกษาแพทย์ได้หากไม่มั่นใจระยะเวลาที่เหมาะสมในการหยุดแยกตัว

 

หลังจากนั้น แนะนำให้สวมหน้ากาก อนามัยและระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่ (new normal) แต่ถ้าเป็นผู้ที่มี ภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีอาการหนักในช่วงแรก อาจจะแพร่เชื้อได้นานถึง 20 วัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต้องรับ การรักษาในโรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นจนกลับบ้านได้แล้วมักจะพ้นระยะแพร่เชื้อแล้วจึงไม่ต้องแยกตัว

 

  • จัดกลุ่มผู้ป่วย Home Isolation

 

สำหรับคำนิยาม Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 (วันที่ 4 มกราคม 2565) ผู้ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในบ้านตามคำแนะนำ ดังนี้

 

1) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และ แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้

2) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ step down หลังเข้ารับการรักษาที่สถานที่รัฐจัดให้หรือ โรงพยาบาล อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน โดยวิธีHome Isolation

 

  • ลักษณะบ้านพักที่เหมาะสม

 

บ้านหรือที่พักอาศัยของ ผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรจะต้องมีลักษณะ ดังนี้

1. ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ให้ออกจากที่พัก

2. มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิด ประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี

3. มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง

4. ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้

5. สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก หากบ้านหรือที่พักไม่เหมาะสม อาจต้องหาสถานที่แห่งอื่นในการแยกตัว

 

  • เกณฑ์ส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล

 

1) เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

2) หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่

3) Oxygen Saturation < 94%

4) โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์

5) สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

 

  • แนวทางการรักษาผู้ป่วยโอมิครอน

 

สำหรับ แนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ “โอมิครอน” เหมือนกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิค-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยยาในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ยังคงให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ส่วนยาแพ๊กซ์โลวิด อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสาร คาดว่า จะได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือช่วงเดือนมีนาคม 

 

ขณะนี้ เตียงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุด วันที่ 4 ม.ค. รวมทุกประเภท รวม 31,701 เตียง ครองเตียงแล้ว 5,873 เตียง ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างจังหวัด อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมสายด่วนในแต่ละจังหวัด เพื่อการประสานรับผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง

 

  • เตรียมการรับผู้ป่วยเด็ก

 

กทม. มีการจัดทำเตียง CI สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง และ 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีเตรียมยาน้ำฟาวิราเวียร์สำหรับเด็กทั่วประเทศ โดย รพ.แต่ละแห่งสามารถทำได้เอง ไม่ต้องสำรอง พร้อมทั้งจัดหมอเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย ส่วนการรักษาทุกโรงพยาบาลเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ ไว้รักษากลุ่มเด็กโดยเฉพาะ นอกจากนี้ CI สำหรับแรงงานต่างด้าวด้วยโซนละ 1 แห่ง แห่งละประมาณ 100 เตียง

 

  • สปสช.จ่ายค่าบริการรักษาตัวที่บ้าน     

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.).ได้ปรับปรุงแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม รวมถึงการเบิกจ่ายที่รวดเร็วขึ้น โดยประเด็นการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้า ปรับเป็นจำนวน 1,000 บาท โอนให้หน่วยบริการทุกสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการดูแลผู้ป่วย หน่วยบริการสามารถเบิกค่าดูแลเพิ่มเติมตามรายการ ดังนี้ 

 

1.RT-PCR มีค่าตรวจ Lab 1,000-1,200 บาท/ครั้ง, ค่าอื่นๆในห้อง Lab 200 บาท/ครั้ง และค่าเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ 100 บาท / ครั้ง

2.ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย แบบไม่รวมค่าอาหารจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาทต่อวัน และแบบรวมค่าอาหาร 3 มื้อ เหมาจ่าย ใน 1,000 บาทต่อวัน

3.ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัด Oxygen Sat ตามรายการที่ใช้จริง ไม่เกินจำนวน 1,100 บาทต่อราย

4.ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะ โรคติดเชื้อโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย

5.ค่ารถส่งต่อ จ่ายตามจริงตามระยะทาง รวมค่าทำความสะอาด 1,400 บาท

6.ค่า chest X-ray (การเอกซเรย์ปอด) จ่ายในอัตรา 100 บาทต่อครั้ง

7.ค่าออกซิเจน จ่ายในอัตรา 450 บาทต่อวัน