"กรมอนามัย" เผยเด็กมากกว่าครึ่ง "ฟันผุ" แนะพ่อแม่ดูแลใกล้ชิด

"กรมอนามัย" เผยเด็กมากกว่าครึ่ง "ฟันผุ" แนะพ่อแม่ดูแลใกล้ชิด

"กรมอนามัย" แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลเด็ก "เรียนออนไลน์" อย่างใกล้ชิด และหมั่นสังเกตความผิดปกติในช่องปากของเด็ก ควรเลือกกินขนมอ่อนหวาน ไม่เหนียวติดฟัน เครื่องดื่มหวานน้อย และงดน้ำอัดลม เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเด็ก

วันนี้ (9 ม.ค. 65) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้สถานศึกษาในหลายพื้นที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน ทั้ง แบบ On Air, Online, On Demand, On Hand ผ่านทางไปรษณีย์ ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียน จึงทำให้ขณะเรียนหนังสือที่บ้านเด็กสามารถกินขนม เครื่องดื่มรสหวานได้ตลอดเวลา หากเด็กยังกินขนมบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และแปรงฟันไม่สะอาด หรือมีพฤติกรรมการแปรงฟันลดลง โดยเฉพาะการแปรงฟันก่อนนอน ปัญหา ฟันผุ จากระยะเริ่มต้นที่เป็นเพียงเล็กน้อยก็จะลุกลามจนผุเป็นรูได้

 

\"กรมอนามัย\" เผยเด็กมากกว่าครึ่ง \"ฟันผุ\" แนะพ่อแม่ดูแลใกล้ชิด

  • แปรงฟันคุณภาพ เพียงร้อยละ 34.3

 

จากผลการสำรวจของสำนักทันตสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บริโภคอาหารระหว่างมื้อเฉลี่ย 2.8 ครั้งต่อวัน เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บริโภคน้ำหวานและน้ำอัดลมเฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อวัน เฉลี่ย 2.5 วันต่อสัปดาห์ บริโภคขนมเฉลี่ย 2.4 ห่อต่อวัน ลูกอม หมากฝรั่ง เฉลี่ย 1.5 เม็ดต่อวัน

 

ในขณะที่การแปรงฟันคุณภาพ มีเพียงร้อยละ 34.3 สถานการณ์สภาวะสุขภาพช่องปากเด็กนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบันเด็กมากกว่าครึ่งพบปัญหาเสียวฟันเมื่อกินอาหารหวานหรือน้ำเย็น มีรูผุที่ผิวฟัน และเด็กมีอาการปวดฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ร้อยละ 8.4

  • แนะดูแลสุขภาพฟันเด็กอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลสุขภาพช่องปากเด็กที่ "เรียนออนไลน์" อย่างใกล้ชิด ดังนี้ 

 

1) เลือกขนมที่เหมาะสม ควรเป็นขนมหวานน้อยและไม่เหนียวติดฟัน เลือกเครื่องดื่มหวานน้อย งดน้ำอัดลมและควรดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด

 

2) ลดความถี่ในการบริโภคขนมไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน แนะนำให้กินขนมในมื้ออาหาร หรือกินขนมแล้วต้องแปรงฟัน

 

3) แปรงฟันด้วยสูตร 2-2-2 แปรงฟันอย่างน้อย 2 นาที ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เน้นแปรงฟันก่อนนอนพร้อมกันทั้งครอบครัว

 

4) ตรวจความสะอาดหลังแปรงฟัน และความผิดปกติของฟันอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา