เช็ค "อาการโอมิครอน" อาการขั้นไหนต้องระวัง และรีบพบแพทย์ด่วน!
รู้หรือไม่? "อาการโอมิครอน" แม้จะมีการสรุปจากหลายฝ่ายว่าไม่มีความรุนแรง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ หากผู้ป่วยโควิดมีอาการหนักขึ้นหรือมีความผิดปกติใดๆ เพิ่มเติม ให้รีบเช็คด่วน เราสรุปอาการที่ควรระวังและเข้าข่ายต้องพบแพทย์มาให้รู้ ที่นี่!
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักโควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" รวมไปถึงหลายคนคงรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ "อาการโอมิครอน" กันมาบ้างแล้ว เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในระลอกล่าสุดและแพร่กระจายเร็วกว่าเดลตาถึง 70 เท่า ทำให้วันนี้ (12 ม.ค. 65) ไทยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 7,681 ราย
แต่ถึงแม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขชี้แจงว่า "อาการโอมิครอน" ส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง แต่ประชาชนก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะในบางรายอาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น และอาจป่วยหนักได้ แล้วอาการแบบไหน? ที่ผู้ป่วยโควิดควรเฝ้าระวังและต้องรีบพบแพทย์ เราหาคำตอบมาให้แล้ว
- เช็ค "อาการโอมิครอน" ที่ต้องระวัง และให้รีบพบแพทย์!
มีข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุถึงเกณฑ์การส่งต่อ "ผู้ป่วยโควิด" เข้าโรงพยาบาลหากมีอาการเปลี่ยนแปลงระหว่างทำ Home Isolation / Community Isolation เอาไว้ ดังนี้
1. เมื่อมีอาการไข้สูงเกินกว่า 39 องศาฯ เป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2. วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94%
3. นับการหายใจได้มากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ (หากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแล HI CI)
4. กลุ่มผู้ป่วย 608 ที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง
5. สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการในข้อ 1 หรือ ข้อ 2 หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ เซื่องซึมลง รวมถึงดื่มนมหรือทานอาหารได้น้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เช็ค! 10 ข้อต้องรู้ อาการ “โอมิครอน” รุนแรงแค่ไหน?
- เช็ค "อาการโควิด-19" สายพันธุ์ "โอมิครอน" VS "เดลตา" ต่างกันอย่างไร ?
- ‘สุพันธ์’ ประธาน ส.อ.ท. เผยติดโควิด ‘โอมิครอน’ ระบุอาการไม่น่าห่วง
- ลักษณะจำเพาะของโอมิครอน และ "อาการโอมิครอน" เบื้องต้น
สำหรับลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอน คือ เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 50 ตำแหน่ง เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้รวดเร็วมาก แม้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ซ้ำได้
โดยไวรัสจะยึดเกาะกับเซลล์ของคนได้มากกว่า 10 จุด และยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดี ส่วน "อาการโอมิครอน" ของผู้ป่วยติดโควิด มักจะมีอาการดังนี้
ไอ, จาม, เป็นไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ, หายใจลำบาก และได้กลิ่นน้อยลง รวมไปถึงอาการเจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, เหนื่อย, อ่อยเพลีย, ไอแห้ง และเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
ทั้งนี้ โอมิครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจและหลอดลมได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า แต่หากแพร่กระจายถึงขั้นลงปอด จะไม่ทำลายปอดเท่ากับเดลตา เพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มักอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน
- "อาการโอมิครอน" อาการไหนผู้ป่วยเป็นมากที่สุด?
ลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิดโอมิครอน ที่พบในผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วงเดือน ธ.ค. 2564 พบว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการหลักๆ 8 อย่าง แต่จะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ไอ 54%
- เจ็บคอ 37%
- ไข้ 29%
- ปวดกล้ามเนื้อ 15%
- มีน้ำมูก 12%
- ปวดศีรษะ 10%
- หายใจลำบาก 5%
- ได้กลิ่นลดลง 2%