เช็คด่วน! ป่วยโควิดโอมิครอน มีศูนย์พักคอย -โรงพยาบาลสนามที่ไหนบ้าง?

เช็คด่วน! ป่วยโควิดโอมิครอน มีศูนย์พักคอย -โรงพยาบาลสนามที่ไหนบ้าง?

รวมศูนย์พักคอย -โรงพยาบาลสนามทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เครือซีพีร่วมพันธมิตร เปิด 1,000 เตียง ขณะที่กทม. กองทัพเรือ เตรียมพร้อมตั้งรับผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เปิดสายด่วน 1330 กด 14 สปสช. และสายด่วน 1669 เพิ่ม 60 คู่สาย ดูแลผู้ป่วยโควิด

เฉียดหลักหมื่นรายเข้าไปทุกวัน สำหรับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่โควิด-19 โดยวันนี้ (13 ม.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19(ศบค.) ของรัฐบาล รายงานข้อมูลเบื้องต้น สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8,167 ราย  ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จำนวน  77,022 ราย

ขณะที่ กรมควบคุมโรครายงานผลตรวจ ATK เพิ่มเติมว่า พบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่ม 1,789 ราย รวมสะสม 396,166 คน ร้อยละของการตรวจพบเชื้ออยู่ที่  9.51 

ส่วนผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่  70,594 ราย กลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบที่น่าวิตก 520 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 110ราย

ด้วยยอดผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจากการแพ่รระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับโควิดระลอกนี้ โดยมีการเตรียมทั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และยาต่างๆ

 

  • รวมศูนย์พักคอย- รพ.สนามกว่าหลายหมื่นเตียง

วันนี้ กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมศูนย์พักคอน และโรงพยาบาลสนามทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19

เริ่มด้วย เครือซีพี ได้ร่วมกับกรมการแพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทต่างๆ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย กว่า1,000 เตียง มีดังนี้

1.โรงพยาบาลสนาม ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์  โดยซีพีร่วมกับกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-ส้ม จำนวน 620 เตียง  ตั้งอยู่บนพื้นที่คลังสินค้า โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ  ติดต่อ โทรศัพท์ 095-486-4979 , 085-911-0524 และ 085-911-8353

เช็คด่วน! ป่วยโควิดโอมิครอน มีศูนย์พักคอย -โรงพยาบาลสนามที่ไหนบ้าง?

2.โรงพยาบาลสนาม กรมการแพทย์-เลิดสิน  เป็นโรงพยาบาลสนามที่ซีพีร่วมกับโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์  และบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-แดง จำนวน  200 เตียง บนถนนสีลม กทม. ติดต่อ โทรศัพท์ 02-001-2015, 02-001-2016 และ 02-001-2190

3.ศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตนราชธานี เป็นศูนย์พักคอยที่ซีพีร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รองรับผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 172 เตียง ตั้งอยู่ที่โรงยิมเนเซียม 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนรามคำแหง กทม. โดยศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตนราชธานี จะเปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ติดต่อ โทรศัพท์ 02-310-888

 

  • ติดต่อสายด่วน เช็คศูนย์พักคอย CI 

ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการเข้าสู่ระบบการติดตามดูแลเฝ้าอาการ ทั้งในรูปแบบการกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) ลงทะเบียนสายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 14 และรูปแบบชุมชน / ศูนย์พักคอย Community Isolation (CI)

ด้าน กทม. ได้เปิด"ศูนย์พักคอย" เพื่อส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อพร้อมให้บริการแล้ว 13 แห่ง (ข้อมูล ณ 10 ม.ค. 2565) มีดังนี้

  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย (เฉพาะสำหรับเด็กและครอบครัว) สามารถรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5 - 12 ปี แบ่งเป็น ชาย 26 คน และหญิง 26 คน เดิมได้ปรับเป็นสแตนด์บายโหมดอยู่แล้ว หากมีผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ที่เป็นเด็กอายุ 5 - 12 ปี ก็สามารถรับผู้ติดเชื้อมาดูแลได้ทันที
  • บริษัท RBS Logistic จำกัด เขตลาดพร้าว 175 เตียง
  • โรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ 118 เตียง
  • ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 100 เตียง
  • ศูนย์ตันปัน เขตห้วยขวาง 145 เตียง
  • วัดสะพาน เขตคลองเตย 500 เตียง
  • นาซ่า แบงค์คอก เขตสวนหลวง 92 เตียง
  • ศูนย์พักคอย กทม. เขตคันนายาว 127 เตียง
  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางกะปิ 133 เตียง
  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตทวีวัฒนา 114 เตียง
  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัย (สตรี) เขตบางกอกใหญ่ 50 เตียง
  • วัดกำแพง เขตภาษีเจริญ 100 เตียง
  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางขุนเทียน 120 เตียง

ทั้งนี้ ได้มีการสำรองเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 25,345 เตียง เป็นเตียงของ รพ.ในสังกัด กทม. ประกอบด้วย รพ.หลัก 9 แห่ง รพ.สนาม 5 แห่ง รพ.สนามระดับกลุ่มเขต 3 แห่ง และ Hospitel 4 แห่ง รวมจำนวนเตียงทั้งสิ้น 2,657 เตียง และสามารถขยายศักยภาพเตียงเพิ่มขึ้นได้ถึง 5,000 เตียง

  • สายด่วน 1669 เพิ่ม 60 คู่สาย ดูแลผู้ป่วย

รวมถึงศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล ซึ่งได้มีการเพิ่มจำนวนคู่สายด่วน 1669 จากเดิม 30 คู่สาย เป็น 60 คู่สาย พร้อมเจ้าหน้าที่บริการรับสายตลอด 24 ชั่วโมง และภายในสัปดาห์หน้ามีแผนจะเพิ่มคู่สายอีก 60 คู่สาย โดยยังคงมีเป้าหมายนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาภายใน 1 วัน โดยไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง

เช็คด่วน! ป่วยโควิดโอมิครอน มีศูนย์พักคอย -โรงพยาบาลสนามที่ไหนบ้าง?

นอกจากนี้ รพ. ในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ได้จัดบริการตรวจ ATK โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

1. ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง

2. ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ

3. ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยติดเชื้อ

4. ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ Bangkok Fast & Clear Center (BFC) ของ รพ.ในสังกัด กทม. ประกอบด้วย

  • รพ.กลาง โทร. 0-2225-1354
  • รพ.ตากสิน โทร.0-2437-7677
  • รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.0-2289-7986
  • รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0-2429-3575 0-2429-3258
  • รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.0-2543-2090
  • รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.0-2327-3049
  • รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.0-2444-3660
  • รพ.สิรินธร โทร.0-2328-6760
  • รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน โทร.0-2452-7803
  • รพ.คลองสามวา โทร.0-2150-1300
  • รพ.บางนากรุงเทพมหานคร โทร.0-2180-0202 ต่อ 103

อีกทั้ง ได้เปิดจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Drive Thru จากทีมแพทย์เคลื่อนที่ รพ.ราชพิพัฒน์ ซึ่งให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องลงจากพาหนะกับประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงประชาชนที่สะดวกเดินทางไปสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ถนนบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 1 เม.ย. 2565

  • เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม รองรับโอมิครอน

มาถึง กองทัพเรือ ได้มีการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล สถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการแพร่ระบาด ดังนี้

1.ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลหลัก สามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหอผู้ป่วยวิกฤต ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงขั้นวิกฤต

2.จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือใน 3 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 1,109 เตียง ประกอบด้วย

1) โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 544 เตียง

2) โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 180 เตียง

3) โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 385 เตียง