สปสช. เยียวยาผลกระทบจาก "วัคซีนโควิด-19" แล้วกว่า 1,065 ล้านบาท
สปสช. ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด "วัคซีนโควิด-19" แล้ว 9,551 ราย รวมเป็นเงินกว่า 1,065 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรงเจ็บป่วยต่อเนื่อง 7,037 ราย พื้นที่เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นขอรับการช่วยเหลือมากที่สุด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 สำหรับวัคซีนที่ประชาชนได้รับการฉีดฟรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการ โดยมอบให้ สปสช. เป็นหน่วยงานดำเนินการ และได้ออกประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
- "เยียวยาวัคซีนโควิด" แล้วกว่า 1,065 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในวันนี้ (14 ม.ค. 65) มีประชาชนที่ฉีดวัคซีนและเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือจำนวน 12,882 ราย โดยในจำนวนนี้
- เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือ 9,551 ราย หรือร้อยละ 74.14
- ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1,869 ราย หรือร้อยละ 14.51
- อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,462 ราย หรือร้อยละ 11.35
ในจำนวนนี้มีผู้ที่อุทธรณ์คำร้องขอรับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 680 ราย โดย สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ไปแล้วทั้งหมด จำนวน 1,065,076,200 บาท
- กทม. ยื่นคำร้องมากที่สุด
เมื่อแยกดูข้อมูลแบ่งตามเขต พบว่า เขต 13 กทม. มีการยื่นคำร้องมากที่สุด จำนวน 2,229 ราย รองลงมาอีก 3 เขต เป็นเขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 1,510 ราย เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 1,415 ราย และเขต 8 อุดรธานี จำนวน 1,123 ราย
- เป็นสิทธิ บัตรทอง 6,662 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 6,662 ราย หรือร้อยละ 51.72 ผู้มีสิทธิประกันสังคม จำนวน 3,277 ราย หรือร้อยละ 25.44 ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 2,619 ราย หรือร้อยละ 20.33 นอกนั้น เป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ
- อาการที่พบบ่อย
สำหรับ อาการผู้ที่มีภาวะไม่พึงประสงค์ อาทิ มีไข้, ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน, มีผื่น คัน บวม, ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, อาการชา, แขนขาอ่อนแรง, ภาวะแพ้รุนแรง (Phylaxis Shock) และเสียชีวิต อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง เข้าหลักเกณฑ์ ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 7,037 ราย
ขณะที่ใน ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี จำนวน 250 ราย และ ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 2,264 ราย
- 3 จุด ยื่นคำร้อง
ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ
1. ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด
2. ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
3. ที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต
มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดตามหลักการสากลหรือ no fault compensation
เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย
ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ คลิก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso