“ปลดล็อกกัญชา” พ้นยาเสพติด แต่ “ไม่ใช่เสรี” เช็คจุดที่ยังผิดกฎหมาย!
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชี่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ... แล้ว ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพิจารณา 25 ม.ค.2565 จะส่งผลให้ “กัญชาไม่เป็นยาเสพติด”อีกต่อไป แต่สารสกัดยังเป็นยาเสพติด
นพ.ธงชัย กีรติหัถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีการเข้าประชุม 28 ท่าน โดย 25 ท่านเห็นชอบต่อร่างนี้ ที่เหลือเห็นชอบแต่ขอให้รับข้อสังเกตไว้ด้วย ซึ่ง(ร่างนี้) กำหนดระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. .... คือ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษคือ ก.สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข.สารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน
เท่ากับว่าหากร่างนี้มีผลบังคับใช้ “พืชกัญชา”จะไม่ได้ถูกระบุเป็น “ยาเสพติด”อีกต่อไป ฉะนั้น ผู้ที่ครอบครอง “ทุกส่วนของกัญชา”จะไม่ถูกจับกุม เว้นแต่ผู้ที่ครอบครอง “สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชา ที่มีTHCเกิน 0.2% โดยน้ำหนักเท่านั้น”ที่จะถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึง จะสามารถปลูกได้!
แต่ไม่ได้หมายความ “กัญชา”จะไม่ถูกควบคุม เพียงแต่จะไม่ได้ดำเนินการในฐานะที่เป็น “ยาเสพติด” จะเป็นการควบคุมในลักษณะคล้ายกับยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“แม้กัญชาจะไม่ได้ระบุเป็นยาเสพติดแล้ว แต่ยังมีการควบคุม แต่ไม่ได้ควบคุมในฐานะยาเสพติด" นพ.ธงชัย กล่าว
นายปานเทพ พัวพงษ์พัน ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กล่าวว่า ข้อมูลวิชาการ Drug and Alcohol พ.ศ.2554 ระบุว่า
- บุหรี่เมื่อเริ่มสูบมวนแรก มีอัตราการเสพติด 67.5 %
- เหล้าเมื่อเริ่มดื่มครั้งแรกจะมีการเสพติด 22.7 %
- กัญชาเมื่อมีการสูบครั้งแรกจะมีการเสพติด 8.9 %
เพราะฉะนั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่มีการควบคุมอย่างไร กัญชาก็จะมีการควบคุมในลักษณะนั้น แต่ต้นกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว สารสกัดที่มีTHCเกิน 0.2 %ถึงจะเป็นยาเสพติด แต่แม้จะเกิน 0.2% ก็ยังสามารถขอใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิจัยได้
พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ประเด็นว่าร่างประกาศจะขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่นั้น ในอนุสัญญาระหว่างประเทศให้ควบคุมเรื่องการปลูกพืชกัญชา ในตระกูลแคนนาบิส แต่ไม่กำหนดว่าจะต้องควบคุมภายใต้กฎหมายยาเสพติด ดังนั้น เรากำลังเสนอร่างกฎหมายมาควบคุมเช่นเดียวกับกระท่อม แต่ขณะเดียวกันคุมเฉพาะที่ปลูกในประเทศ ส่วนที่มาจากต่างประเทศยังคงเป็นยาเสพติดที่ต้องห้ามอยู่
“การควบคุมหากกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดนั้น อยู่ที่จะเอาไปทำอะไร หากเอามาทำอาหารก็จะมี พ.ร.บ.อาหาร เครื่องสำอางก็มี พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ส่วนการปลูกทำได้ ยกเว้นปลูกเพื่ออุตสาหกรรมที่ต้องขออนุญาต การปลูกที่บ้าน แล้วนำช่อดอกมาใช้ หากยังไม่มีกฎหมายฉบับอื่นออกมาบังคับหรือควบคุม ก็ใช้ได้ ในการควบคุมการปลูกก็จะอาจมี พ.ร.บ.กัญชาควบคุม เหมือนกับการควบคุมการปลูกยาสูบ ซึ่งขณะนี้มีการยกร่างรอแล้ว ” พ.ต.อ.ประเวศน์กล่าว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติดนั้น ยังมีการได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์กัญชาไม่น้อย โดยเครื่องสำอางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อนุญาตไป 456 รายการ
อาหารที่ไม่ใช้อาหารที่ขายตามหน้าร้าน 14 รายการ
สมุนไพร 31 รายการ
และมีการคาดการณ์ว่าหากกัญชาไม่ได้ถูกควบคุมในฐานะเป็นยาเสพติดจะมีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ในปี 2021-2025 ประกอบด้วย
เครื่องดื่ม จาก 280 ล้านบาท เป็น 7,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 128 %
อาหาร จาก 240 ล้านบาท เป็น 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 %
และยา จาก 50 ล้านบาท เป็น 1,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123 %
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบเกี่ยวกับร่างประกาศนี้ ถือเป็นการปลดล็อกตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจากผลประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ ก็ค่อนข้างสมบูรณ์ ขอให้ทุกฝ่ายเคารพในมติ เพราะถือว่าการประชุมนี้เป็นการผลักดันตามขั้นตอนทุกประการ ตั้งแต่อนุกรรมการ มาคณะกรรมการควบคุมฯ เหลือแค่คณะกรรมการป.ป.ส.
ซึ่งทุกคนก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ ขอให้มั่นใจนี่คือนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นายกฯ ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนด้วย แต่ด้วยความระมัดระวัง ความตั้งใจที่จะดูแลปัญหาปากท้องประชาชน ความตั้งใจที่จะก่อให้เกิดผลทางเลือก เสริมสร้างรายได้ มีสุขภาพแข็งแรง มียารักษาโรคทรมานจากกัญชาได้ แม้เป็นนโยบายเร่งด่วนต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีครึ่งจึงมาถึงจุดนี้
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุขทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้พ้นมือสาธารณสุขแล้ว เหลือเพียงคณะกรรมการป.ป.ส. ที่ต้องให้การรับรองร่างประกาศฉบับนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ไม่มีการระบุ กัญชาเป็นยาเสพติด ขอให้คำนึงถึงประโยชน์พี่น้องประชาชน ประโยชน์บ้านเมือง อย่าคำนึงถึงอำนาจตัวเองที่เคยมีอยู่ จะสูญหายไป จะสูญเสียการบังคับใช้กฎหมาย วันนี้ประชาชนไทยใครก็บังคับไม่ได้ เราเป็นข้าราชการไทย เรามาอาสารับใช้บ้านเมืองต้องทำประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทย อย่ามองว่า กัญชา เป็นยาเสพติด แต่เรามองอีกมุม จึงอย่าเถียงตรงนั้น ต้องมองประโยชน์ประเทศชาติดีกว่า
“ อย่าบอกว่า กัญชาเสรี ไม่มีการควบคุม เพราะนี่มีการควบคุม โดยTHCไม่เกิน 0.2% ใช้ได้ เป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นประโยชน์ ยิ่งซีบีดียิ่งเป็นประโยชน์ ยิ่งมีมากยิ่งหาได้ง่าย คนก็ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่วนการเอาไปสูบที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะมีการออกกฎหมายมาควบคุม เหมือนตอนกฎหมายกระท่อม”นายอนุทินกล่าว