กรมสุขภาพจิตชูลำพูนโมเดล"ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย"
กรมสุขภาพจิต ขานรับนโยบายคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติพร้อมชูลำพูนโมเดล “ยุทธศาสตร์ 4 เสาเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันแก้ไขลดปัญหาการฆ่าตัวตายแบบบูรณาการ
วันนี้ (21 มกราคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อตรวจเยี่ยมผลการสนับสนุนคณะอนุกรรมการการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดตามมติที่
ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติครั้งที่ 1/2565 โดยได้มอบนโยบายการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ให้สร้างความเข้มแข็งทางใจของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และลดอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้มีการทำงานร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน และชื่นชมโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่จังหวัดลำพูน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน
ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างมาก เพราะพื้นฐานแล้วคนไทยจิตใจที่ดีมีจิตใจที่งดงาม มีความอ่อนไหว มีความจริงใจ แต่ถ้าหากสิ่งใด
ก็ตามที่กระทบสภาวะจิตใจก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสีย การขับเคลื่อนเพื่อป้องกัน
การฆ่าตัวตายจึงเป็นความเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชน เพราะเรื่องการทำร้ายตัวเองแม้จะเป็นการกระทำที่ชั่ววูบ
แต่ถึงกระนั้นทุกคนก็สามารถสอดส่องได้จากสัญญาณเตือน และสามารถเฝ้าระวังและแก้ไขรวมไปถึงให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ในอนาคตเรื่องของการช่วยเหลือประชาขน การบูรณาการกับโลกดิจิทัลจะสามารถทำให้การช่วยเหลือในวงกว้างขึ้นอีกและท้ายที่สุดต้องขอขอบคุณบุคลากรสาธารณสุขและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้อง อสม. เพราะการขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จในหลายๆเรื่อง
เป็นเพราะได้กำลังสนับสนุนและทุ่มเทกายใจ จากพี่น้อง อสม. เหล่านี้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของปัญหาทางสุขภาพจิต โดยผลกระทบที่สำคัญคือการฆ่าตัวตาย จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกก่อนวัยอันควร ซึ่งแต่ละปีการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งในการก่อเหตุมักมีการแสดงอาการบ่งชี้เริ่มต้นด้วยการซึมเศร้าและพฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยจากการซึมเศร้าอยู่เกือบ 2 ล้านคน
ในจำนวนนี้มีบางคนรู้สึกถึงอาการป่วยของตัวเอง เริ่มกล้าเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ในการรีบมาปรึกษาแพทย์ และยินยอมเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว โดย 10 ปีมานี้ มีการขับเคลื่อนรณรงค์ให้ข้อมูลสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าต่อเนื่องทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอชื่นชมหน่วยงานในจังหวัดลำพูนที่ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำร้ายตัวเอง ที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของจังหวัด ผ่านกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านในจังหวัดลำพูน อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยเครื่องมือ “4 เสา” ประกอบด้วย เสาที่ 1: ระบบข้อมูล เสาที่ 2: ระบบดักจับ เสาที่ 3: ระบบป้องกันและบำบัด เสาที่ 4: ระบบบริหารจัดการเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้ประชาชนในจังหวัดลำพูน มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการสนับสนุนของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน 4 เสา เราไม่ทิ้งกัน โดยร่วมผลักดันให้เกิดการนำเครื่องมือ 4 เสา สู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป ซึ่งกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ยังมีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “4 เสา เราไม่ทิ้งกัน”
ณ ห้องประชุมโชควัฒนา สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยาน
กรมสุขภาพจิตจะเร่งพัฒนาต่อยอดการดำเนินการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขการฆ่าตัวตายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ แต่ถึงกระนั้นขอเน้นย้ำให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา สำรวจตนเอง บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน หากพบว่ามีอาการซึมเศร้า เบื่อ แยกตัว นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง
ทั้งนี้ สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้ทาง www.วัดใจ.com (Mental Health Check in) แนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต
โทร. 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง