รับไหว? กรมควบคุมโรคประเมินโควิด19ล่าสุด หลังศบค.ผ่อนคลายมาตรการ
กรมควบคุมโรคชี้โควิด19 เป็นไปตามคาดการณ์ ติดใหม่เฉลี่ย 8,000 รายต่อวัน ป่วยรุนแรง- รักษาHIอาการเปลี่ยนต้องเข้ารพ.ไม่มาก เตียงไอซียูโควิดยังเพียงพอรองรับ อัตราครองเตียงภาพรวมอยู่ที่ 33.8%
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด19 ว่าขณะนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยที่ 8 พันรายต่อวัน ยังไม่ถือว่าพุ่งขึ้นมาก ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงก็ไม่มาก เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หรือดีกว่าที่คาดไว้ แต่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดง่าย แพร่เชื้อเร็ว จึงต้องระวังต่อเนื่อง เตียงไอซียูของโรงพยาบาล(รพ.) โรงเรียนแพทย์ยังมีเพียงพอรองรับ ต่างจากเดลต้า ที่พบว่าผู้ป่วยอาการหนักค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ จะให้รักษาที่บ้าน(Home Isolation) ซึ่งสะดวก มีช่องทางติดต่อแพทย์ หากผู้ป่วยอาการมากขึ้น เท่าที่ดูผู้ติดเชื้อที่อยู่ HI แล้วมีอาการเปลี่ยนต้องเข้า รพ. ก็มีไม่มาก
เมื่อถามว่าหลังจากมีการขยายมาตรการให้นั่งดื่มแอลกอฮฮล์ในร้านอาหารได้ถึง 23.00 น. ใน 33 จังหวัด คาดตัวเลขติดเชื้อไว้อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ติดตามสถานการณ์ทุกวัน แต่อย่างที่เรียนรู้กันมาคือ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการใด จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น ตรงไปตรงมา เพราะถ้าเปิดกิจกรรมแล้วไม่ติดเชื้อเพิ่ม ก็คงเปิดทุกกิจกรรม แต่ด้วยชะลอการเปิดกิจกรรมในช่วงแรก เพราะต้องรอประเมินว่าโอมิครอน แท้จริงแล้วรุนแรงหรือไม่ แต่ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่า เตียงไอซียูเพียงพอรองรับได้ จึงเปิดเป็นขั้น เป็นตอนไป คือ ผับบาร์ คาราโอเกะ ยังไม่เปิดให้บริการ
“ร้านอาหารที่เปิดให้ดื่มแอลกกอฮอล์ ต้องมีมาตรการCovid-19 Free Setting พนักงานรับวัคซีนครบ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อนให้บริการลูกค้า จะไม่อิสระแบบเมื่อก่อน และย้ำในเรื่องร้านต้องถ่ายเทอากาศได้” นพ.โอภาส กล่าว
ถามถึงที่มีการท้วงติงมาตรการ ATK Frist ก่อนเข้าสถานที่/กิจกรรม อาจจะมีประโยชน์น้อย นพ.โอภาส กล่าวว่า ATK เป็นเครื่องมือคัดกรองเบื้องต้น ผลตรวจอาจจะไม่แม่นยำเท่า RT-PCR แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ เพราะราคาถูกกว่า ตรวจง่าย รู้ผลเร็ว จึงใช้ประโยชน์นี้เพื่อคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องไปเจอคนมากก็แนะนำว่าให้ตรวจได้ตามความเสี่ยง เพื่อป้องกันตัวเองและ คนรอบข้าง ขอให้มองจุดแข็ง ประโยชน์ของเครื่องมือนั้นๆ ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์เตียง ณ วันที่ 19 ม.ค.2565 ภาพรวมทั้งประเทศ มีอัตราครองเตียง 33.8% แยกเป็น เตียงระดับ 3 อัตราครองเตียง 6.6% เตียงระดับ2.2 อัตราครองเตียง 5.8% เตียงระดับ 2.1 อัตราครองเตียง 16.5% และเตียงระดับ 1 อัตราครองเตียง 38.9%
ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ สำรองคงเหลือกว่า 20 ล้านเม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 35,660 ไวอัล