จากเหตุสลด "หมอกระต่าย" ย้อนสถิติ "คนเดินเท้า" ในไทย เสี่ยงชีวิตบนถนนที่สุด
จากเหตุสลด บิ๊กไบค์ ส.ต.ต. ชน "หมอกระต่าย" เสียชีวิต ย้อนส่องสถิติ "คนเดินเท้า" ในประเทศไทย ทำไมถึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด ขณะที่ข้อมูล WHO ปี 61 ชี้ "ไทย" ครองอันดับ 1 ในเอเชียและอันดับ 9 ของโลก คนเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุด
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 65 เกิดเหตุการณ์ที่ชวนสลดใจในสังคมไทยอีกครั้ง จากกรณีรถจักรยานยนต์แบบ "บิ๊กไบค์" ชนคนเดินข้ามถนน บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตรภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยฯ ทำให้ "พญ.วราลัคน์" สุภวัตรจริยากุล หรือ "หมอกระต่าย" แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต ซึ่งต่อมาทราบชื่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ยศ "สิบตำรวจตรี" (ส.ต.ต.) ชื่อนรวิทย์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ.
เมื่อเกิดเหตุ ส.ต.ต.นรวิทย์ได้ทำแผลเบื้องต้นในจุดเกิดเหตุ และเดินทางไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ จากนั้นวันที่ 23 ม.ค. ได้เดินทางมามอบตัวและรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท โดยพนักงานสอบสวนได้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์แล้ว ผลปริมาณแอลกอฮอล์มีค่าเป็นศูนย์
เบื้องต้น ตำรวจได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับ ส.ต.ต.นรวิทย์ รวมทั้งหมด 5 ข้อหา แบ่งเป็นข้อหาทางอาญา 1 ข้อหา ส่วนอีก 4 ข้อหา เป็นการกระทำผิดทางจราจร ซึ่งได้มีการเปรียบเทียบปรับเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนี้ พนักงานสอบสวนจะทำการรวบรวมสำนวนส่งให้ศาลเป็นผู้พิจารณาคดีในโทษทางอาญา
สำหรับข้อหาที่ ส.ต.ต.นรวิทย์ ถูกดำเนินคดี ได้แก่
1. ขับรถโดยประมาทและการกระทำนั้น เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย”
2. ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในข้อหา นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง
3. ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย
4. ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม)
5. พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ข้อหา ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สืบค้นสถิติย้อนหลังเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดกับคนเดินเท้าในไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจในรายงานพิเศษจากโครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) เปิดมุมมองสะท้อนความจริงของผู้เปราะบางบนถนน (VRUs) ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2562 ตอกย้ำว่า "คนเดินเท้า" เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่ต้องการการคุ้มครอง
ทั้งนี้ รายงานพิเศษดังกล่าวผลิตโดย LIMIT 4 LIFE ภายใต้โครงการ Champions for Change to Achieve Safer Road Use in Thailand ดำเนินงานโดย Internews ภายใต้การสนับสนุนของ Global Road Safety Partnership (GRSP) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการผลักดันนโยบายการลดอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนโดยพลังของสื่อมวลชน
"รถชนคนเดินเท้า" คร่าชีวิตมากที่สุด
รายงานระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556-2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง
รองลงมาคือ อุบัติเหตุรถชนกันในทิศทางตรงกันข้าม และอุบัติเหตุจากการแซง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 40 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง ตามด้วยอุบัติเหตุบริเวณทางแยกและอุบัติเหตุการชนรถที่จอดอยู่หรือวัตถุสิ่งของที่อยู่บนทาง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 25 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนเดินเท้าเกิดในกลุ่มอายุ 45-59 ปี
- ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุบนทางหลวง จำแนกตามลักษณะการชน / ที่มา: รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 2559-2560 (ปีที่พิมพ์ 2562) -
"กรุงเทพฯ" เสียชีวิต 1 ใน 3 ของประเทศ
จากข้อมูลระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 4 ปี (2557-2560) พบว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,200 คนจากอุบัติเหตุทางถนนที่สามารถระบุประเภทยานพาหนะได้ (ถ้าไม่ต้องระบุประเภทยานพาหนะ คนไทยยังเสียชีวิตทางถนนปีละประมาณ 20,000 คน) ในจำนวนดังกล่าวมีคนเดินเท้าเฉลี่ยปีละ 740 คนที่เสียชีวิต กลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น 15-19 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ช่วงอายุ 50-69 ปี ส่วนใหญ่ถูกรถจักรยานยนต์ชน รองลงมาคือรถยนต์และรถบรรทุก
ข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรที่รับแจ้งปี 2558-2560 พบว่า คนเดินเท้าทั่วประเทศมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่นครบาล ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร สูง 1 ใน 3 (34%) เมื่อเทียบกับจำนวนการรับแจ้งทั่วประเทศ กล่าวคือ ถนนในกรุงเทพฯ มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 คน
นอกจากนี้ หากดูที่จำนวนคนเดินเท้าที่โดนรถชนจากสถิติบริการ "ผู้ป่วยใน" เรื่องจำนวนผู้ป่วยในทั่วประเทศ ระหว่างปี 2558-2561 ระบุว่า คนเดินเท้าเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 25,071 ราย หรือเฉลี่ยถึง 6,267.75 รายต่อปี ซึ่งกลุ่มคนเดินเท้าส่วนใหญ่ (56.27%) บาดเจ็บเพราะถูกรถจักรยานยนต์ชน โดยมีเด็ก 0-9 ขวบบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่วัย 45-59 ปี
"ไทย" เสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาค
รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
รองลงมาคือเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน, สิงคโปร์ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
- สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย / ที่มา: GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 -
ขณะเดียวกัน อัตราเสียชีวิตบนท้องถนนที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคนของไทย ยังติดกลุ่มท็อปเท็น หรือ 10 อันดับแรกของโลก โดยตัวเลขดังกล่าวสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วย ซึ่งประเทศที่เหลือในกลุ่ม 10 อันดับแรกเกือบทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา
-------
อ้างอิง: WHO, SDGMove, RoadSafetyThai.org