เมื่องบโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์เยาวชนฯ น้อยกว่างบซื้ออาวุธ

เมื่องบโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์เยาวชนฯ  น้อยกว่างบซื้ออาวุธ

เมื่อโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยรับสมัครทุกปี แต่ในปี 2565 รัฐบาลไม่จัดสรรงบให้ จึงเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประกาศผ่านเวบไซต์ว่า 

จะไม่เปิดรับสมัครโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน รุ่นที่ 25 เนื่องจากการจัดสรรงบระมาณ ในปี 2565 ไม่เพียงพอ

  • ความสำคัญในการส่งเสริมเยาวชน

หลังการประกาศออกไป สร้างความสนใจในประชาชนจำนวนมากว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใด โครงการพัฒนาอัจริยภาพทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่สำคัญเพียงพอเท่ากับการจัดสรรงบให้กับส่วนอื่นๆ เช่น การซื้อเครื่องบิน

วันที่ 21 มกราคม 2565 ประกาศดังกล่าวก็ถูกถอดออกไป แล้วมีประกาศใหม่ออกมาว่า

เมื่องบโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์เยาวชนฯ  น้อยกว่างบซื้ออาวุธ

สวทช. แจงเหตุชะลอการรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพฯ ปี 2565 เพื่อคัดเลือกรับทุนในปีการศึกษา 2566

ตามที่ได้มีการประกาศไม่เปิดรับสมัคร โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน Junior Science Talent Project (JSTP) รุ่นที่ 25 ทาง Facebook ของโครงการ JSTP นั้น 

สวทช. ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่จะรับทุน JSTP (ระยะยาว) สำหรับปีการศึกษา 2565 ได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จสิ้นแล้ว มีผู้ได้รับคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 10 คน โดยจะเริ่มรับทุน JSTP ในปีการศึกษา 2565

ส่วนที่ประกาศว่าไม่เปิดรับสมัครเป็นเพียงการชะลอกิจกรรมการเข้าค่าย (ค่าย JSTP ระยะสั้น) เพื่อค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมรับทุน JSTP (ระยะยาว) ในปีการศึกษา 2566 เนื่องจากสถานการณ์งบประมาณ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สวทช. จึงพิจารณาทบทวนแนวทางในการดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในการรับสมัครคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมรับทุน JSTP รุ่นที่ 25 ที่จะเริ่มรับทุนในปีการศึกษา 2566 ซึ่งจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

สวทช. ยังคงยึดมั่นในภารกิจส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทยที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

เมื่องบโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์เยาวชนฯ  น้อยกว่างบซื้ออาวุธ Cr.JSTP Community 

  • ตัดโอกาสเยาวชน ตัดโอกาสพัฒนาประเทศ ?

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน Junior Science Talent Project (JSTP) มีขึ้นเพื่อเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ส่งเสริมประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์

เริ่มในปี 2541 จนถึงปี 2563 มีเยาวชนที่สนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการ JSTP แล้วถึง 27,353 คน ผ่านการคัดเลือกในระดับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Gifted and talented children) จำนวน 2,394 คน จะอยู่ในกระบวนการส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพเป็นระยะเวลา 1 ปี

  • เงื่อนไขการรับสมัคร

เด็กและเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1)กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Gifted and Talented Children) เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะอยู่ในโครงการเป็นรายปี จำนวนปีละ 100 คน ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

2)กลุ่มผู้มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Genius) คัดเลือกจากเด็กและเยาวชนจากกลุ่มแรกปีละ 10 คน ได้รับการสนับสนุนจากโครงการในระยะยาว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนักวิชาการ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันในการรับทุน

  • ระยะเวลาเปิดรับสมัคร

เปิดรับช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ของทุกปี และคัดเลือกในเดือนมกราคมของปีถัดไป สอบสัมภาษณ์เดือนกุมภาพันธ์ ประกาศผลการคัดเลือกเดือนมีนาคม เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เดือนพฤษภาคม,ตุลาคม,เมษายน ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ในเดือน มิถุนายน-กุมภาพันธ์ ปีถัดไป

เมื่องบโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์เยาวชนฯ  น้อยกว่างบซื้ออาวุธ Cr.JSTP Community 

  • ศิษย์เก่าและคณะทำงาน จะสนับสนุนเอง

ต่อมา วันที่ 22 มกราคม 2565 ในเฟซบุ๊ก ชุมชนศิษย์เก่า JSTP Community ออกมาประกาศว่า

การที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศชะลอเเละไม่เปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) รุ่นที่ 25 เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 ไม่เพียงพอ

ศิษย์เก่าและคณะทำงานของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการฯ

ที่บ่มเพาะ community ของเยาวชนที่มีศักยภาพให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักนวัตกรรม และผู้นำทางความคิดผ่านการเรียนรู้ที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ สังคม เเละมิติรอบด้าน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้เยาวชนค้นพบศักยภาพเเละความชื่นชอบของตนเองผ่านการทำ “เจ๋งสุดทีน โปรเจค” เพื่อให้เยาวชนปลดปล่อยจินตนาการ ความรู้เเละความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเเปลงให้สังคม ประเทศชาติ เเละโลกนี้ให้ดีขึ้น 

โครงการพัฒนาเยาวชน เช่น JSTP มีคุณค่าในระยะยาวเเละมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยไม่ยึดโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง

ด้วยเหตุผลนี้ ศิษย์เก่าและคณะทำงานจากมหาวิทยาลัย เครือข่ายของโครงการฯ ได้ตกลงที่จะสนับสนุนให้โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนมัธยมศึกษาตอนต้นดำเนินต่อไปในรุ่น 25 เเละรุ่นถัดๆไป 

(https://www.facebook.com/JSTPCommunity/)

  • JSTP to the Future!

โครงการพัฒนาเยาวชนมีคุณค่าในระยะยาวและมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยไม่ยึดโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง

ด้วยเหตุนี้ศิษย์เก่าและคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายของ JSTP (Alumni, Faculty, and Staff)

ได้ตกลงที่จะสนับสนุนให้โครงการ JSTP ดำเนินต่อไปในรุ่น 25 และรุ่นถัดๆ ไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สวทช. จะกลับมาร่วมกันบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง ให้กลายเป็นความหวังของประเทศต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์