ส่องข้อควรระวัง "โอนลอย" ไม่โอนกรรมสิทธิ์ เสี่ยงติดคุกแทนคนอื่น

ส่องข้อควรระวัง "โอนลอย" ไม่โอนกรรมสิทธิ์ เสี่ยงติดคุกแทนคนอื่น

ข้อควรระวังเกี่ยวกับ "โอนลอย" จากกรณี "หมอกระต่าย" ถูก "ส.ต.ต." ขี่บิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย ซึ่งสืบทราบภายหลังพบว่า บิ๊กไบค์คันนี้ถูกขายต่อผ่าน "โอนลอย" ทำให้เจ้าของเก่ายังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ และอาจต้องเดือดร้อนไปด้วย แม้ขายรถไปนาน 3 ปีแล้ว

จากกรณีเกิดเหตุ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขับรถบิ๊กไบค์ชน "หมอกระต่าย" แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดพบว่า ผู้มีชื่อครอบครองรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ หมายเลขทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.สมเกียรติ ชัยตาน รอง สว.(สส.) สภ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน 

นายไพฑูรย์ เสาร์หลวง อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันมีอาชีพค้าขายและย้ายไปอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตนได้นำรถบิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ หมายเลขทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ไปแลกเปลี่ยนกับรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าคันหนึ่งกับนายต่อ (ไม่ทราบชื่อและนามสกุล) โดยได้มอบเอกสารรถเพื่อโอนลอยให้กับนายต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น นายต่อไม่ได้นำรถไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และกลับขายต่อให้บุคคลอื่น กระทั่งมาทราบว่ารถคันดังกล่าวนั้นมีตำรวจขับไปชน "หมอกระต่าย" จนเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม: คดี "หมอกระต่าย" เจ้าของเก่า Ducati ขึ้นโรงพักแจงขายรถเมื่อ 3 ปีก่อน

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า "โอนลอย" คืออะไร มีวิธีการทำอย่างไร และจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่ กรณีที่เจ้าของรถใหม่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แล้วไปก่ออุบัติเหตุ หรือแม้แต่เหตุอาชญากรรม

รู้จักความหมาย "โอนลอย"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับการโอนลอยให้ผู้ที่สนใจจะดำเนินการธุรกรรมเกี่ยวกับเรื่องรถได้รับทราบ ทั้งในแง่ของวิธีการปฏิบัติ และในแง่กฎหมาย เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูล

ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก นิยามความหมายของการ "โอนลอย" ไว้ว่า "การที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว และทำการลงนามในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่สำนักงานขนส่งฯ"

ทำไมซื้อขายรถมือสองถึงนิยม "โอนลอย"

การโอนลอยเป็นที่นิยมในการทำธุรกรรมซื้อขายรถมือสอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อทำเอกสารการโอนลอยรถแล้ว ผู้ขายรถสามารถรับเงินจากผู้ที่ซื้อรถได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกต่อการซื้อขายรถยนต์มือสองอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเสียเวลาไปทำการโอนที่กรมการขนส่งทางบก

เมื่อผู้ซื้อรถเซ็นรับโอนแล้ว ก็สามารถนำเอกสารการโอนลอยนี้ไปทำเรื่องโอนรถที่กรมขนส่งฯ ได้ โดยผู้ที่ขายรถไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องอีก อีกทั้งผู้ที่จะไปทำเรื่องโอนจะเป็นใครก็ได้ เพียงแค่ต้องนำหนังสือมอบอำนาจการโอนที่เจ้าของรถเดิมลงนามไว้แล้วไปที่กรมขนส่งฯ ด้วย 

เอกสารที่ต้องใช้สำหรับ "โอนลอย"

สำหรับเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ในการโอนลอยนั้น ประกอบไปด้วย

  • หนังสือสัญญาซื้อขาย
  • เล่มทะเบียนรถตัวจริง
  • สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
  • สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของผู้ซื้อ (ในกรณีที่เจ้าของรถขายต่อกับผู้ซื้อโดยตรง)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
  • แบบคำขอโอนและรับโอนจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
  • หนังสือมอบอำนาจจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด (ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ได้ไปทำเรื่องโอนที่กรมขนส่งเอง สามารถให้บุคคลอื่นหรือบุคคลที่ซื้อรถต่อไปทำเรื่องโอนแทนได้)

มีผลตามกฎหมายอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การโอนลอยรถนั้นยังไม่ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หากยังไม่ได้ไปดำเนินการที่กรมขนส่งฯ ดังนั้น ระหว่างที่รถยังไม่ถูกโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เมื่อรถที่ขายไปเกิดปัญหาหรือนำไปกระทำความผิด ผู้ขายจะต้องรับทราบปัญหาที่ตามมาดังต่อไปนี้

  • ถูกใบสั่งจราจร
  • มีคดีเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุบนท้องถนน
  • นำไปก่อเหตุอาชญากรรม
  • นำไปขายต่อแบบผิดกฎหมาย

ในทางกฎหมาย เจ้าของรถเดิมที่มีชื่อตามเล่มทะเบียนรถ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังถือว่าเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิด กฎหมายก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้มีชื่อในทางทะเบียนเป็นผู้ที่ขับรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น

ส่องข้อควรระวัง \"โอนลอย\" ไม่โอนกรรมสิทธิ์ เสี่ยงติดคุกแทนคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ขายรถจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายหรือไม่นั้น คำตอบคือ "ไม่" เพราะในข้อเท็จจริงไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์ ไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการหาหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ดังนั้น เอกสารการซื้อขายควรมี 2 ฉบับเก็บไว้ทั้งทางผู้ซื้อและผู้ขาย โดยควรขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อเอาไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดคดีความก่อนที่จะมีการโอนอย่างถูกต้อง เจ้าของรถคนเดิมสามารถนำเอกสารเหล่านี้มายืนยันได้ว่ามีการขายไปแล้ว

--------------

อ้างอิง: กรมการขนส่งทางบก, สำนักงานกิจการยุติธรรม, Legal Services Professional Thailand 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์