"กำแพงกันคลื่น" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ?
โครงการรัฐที่สร้าง"กำแพงกันคลื่น"ป้องกันชายหาดถูกกัดเซาะ นั่นทำให้ชายหาดที่สวยงามหายไปหรือเปล่า หลายฝ่ายจึงกังวลว่า เป็นการทำลายชายหาดมากกว่า แล้วทางออกของปัญหานี้อยู่ที่ไหน
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 65 ได้มีนักท่องเที่ยวโพสต์ภาพชายหาดและทะเลในที่ต่างๆ กลายเป็นกำแพงกันคลื่นมากมาย ไม่มีหาดทรายสวยงามเหมือนในอดีต ภูมิประเทศก็เปลี่ยนไป จนนักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ หลายคนตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น
โดยก่อนหน้านั้น วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทวิตเตอร์ของ Chanon Ngerntongdee ได้โพสต์ภาพถ่ายชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ไม่มีชายหาด มีแต่บันไดคอนกรีตยาวขนานไปกับทะเล โดยเขียนว่า...
“ลาก่อนชายหาดชะอำ ต่อไปนี้ต้องเรียกว่า เชิงบันไดริมทะเลชะอำ และแน่นอน อีกไม่นานลูกหลานผมจะไม่เห็นชายหาดอีกต่อไป”
กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล มีผู้นำข้อความแชร์ต่อและแสดงความคิดเห็นมากมายว่า ยังมีชายหาดและทะเลอีกหลายจังหวัดที่เป็นแบบนี้Cr.Chanon Ngerntongdee
- กำเเพงกันคลื่นหาดชะอำ
วันที่ 12 มกราคม 2564 มีลมมรสุมพัดเข้า ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทำให้คลื่นซัดกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำเป็นแนวยาวกว่า 250 เมตร ต้นสนขนาดใหญ่ล้มกว่า 10 ต้น ชายหาดด้านทิศใต้ถูกกัดเซาะลึกกว่า 3 เมตร เป็นแนวยาวกว่า 200 เมตร
ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ที่เคยเป็นหาดทรายกว้าง ลงเล่นน้ำทะเลได้ ปัจจุบัน กรมโยธาธิการได้ก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น 3 ระยะ รวม 3 กิโลเมตร
-ระยะที่ 1 ความยาว 1,438 เมตร งบประมาณ 102.974 ล้านบาท
-ระยะที่ 2 ความยาว 1,219 เมตร งบประมาณ 74.963 ล้านบาท
-ระยะที่ 3 ความยาว 318 เมตร งบประมาณ 48.5 ล้านบาท
และในอนาคต ชายหาดด้านทิศใต้จะมีโครงการฟื้นฟูบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ความยาว 1,438 เมตร ภายใต้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้งสิ้น 102.924 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดชะอำ ได้เปลี่ยนเเปลงสภาพชายหาดชะอำไปอย่างถาวร หาดทรายหายไป เนื่องจากคลื่นปะทะกำเเพงกวาดทรายออกไป กำเเพงที่มีน้ำท่วมถึงมีตะไคร่น้ำเกาะ ด้านท้ายของกำเเพงก็มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง
กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได มีมูลค่าเฉลี่ยกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท ส่วนกำเเพงกันคลื่นเเบบหินเรียง เฉลี่ยกิโลเมตรละ 80 ล้านบาท นอกจากสูญเสียภูมิทัศน์ชายหาดแล้ว ยังสูญเสียงบประมาณอีกมหาศาล
หาดแก้ว จ.สงขลา Cr.Beach For Life
- กำแพงกัดเซาะชายฝั่งอีก 5 แห่ง
เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอีกใน 5 สถานที่ ได้แก่
1)หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียง เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จากเดิมบริเวณดังกล่าวไม่เคยมีการกัดเซาะชายฝั่งมาก่อน ปัจจุบันมีการเอาไม้ไปปักไว้สลายพลังงานคลื่นแล้ว แต่ไม่เป็นผล
2)หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาดจนมาถึงหมู่ที่ 6 เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บ้านเรือนและสวนมะพร้าวของประชาชนพังเสียหายจำนวนมาก
3)หาดเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา เกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากกำแพงกันคลื่น โดยกรมเจ้าท่า จุดสิ้นสุดของกำแพงถูกกัดเซาะจนทำให้ต้นสนล้มหลายสิบต้น มีการใช้ตาข่ายมาดักไว้ก็ไม่เป็นผล กำลังจะปักไม้และเติมทราย
4)หาดสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเสร็จสิ้นในปี 2563 โดยกรมเจ้าท่า ก็เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง
5)หาดสะกอม จังหวัดสงขลา หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโครงการซ่อมบำรุง โดยกรมเจ้าท่า ชายหาดที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้วกัดเซาะหนักกว่าเดิม ยาวตลอดแนวชายหาดกว่า 1 กิโลเมตร ตัดเป็นหน้าผาลึกกว่า 8 เมตร ในบางจุด
หาดสะกอม จ.สงขลา Cr.Beach For Life
- ชายหาดผืนสุดท้าย
ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันลงชื่อใน https://bit.ly/3GzsoSG เพื่อรักษาชายหาดผืนสุดท้าย หากมีกำเเพงกันคลื่นเกิดขึ้น บริเวณนี้จะกลายเป็นเขื่อนคอนกรีต และชายหาดก็ต้องสูญหายไปอย่างถาวร
ปัจจุบัน ชายหาดนี้เป็นจุดเดียวที่ยังคงสภาพชายหาดธรรมชาติไว้ได้ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สะสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่ง อันเป็นผลจากเขื่อนกันทรายเเละเขื่อนปากน้ำปราณบุรี
แล้วยังเป็นที่อาศัยของ นกหัวโตมลายู ที่มาวางไข่และหาอาหารอีก 300 กว่าตัว ส่วนดอนทรายในทะเลก็ยังเป็นเเหล่งหอยหวานอีกด้วย
- คดีชายหาดสะกอม จ.สงขลา
ที่ จังหวัดสงขลา มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 3 แห่งคือ
1)ปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา
2)ปากร่องน้ำนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
3)ปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
จุดที่หายนะอยู่ที่ ชายหาดสะกอม เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เป็นหน้าผาลึกกว่า 10 เมตร หลังกรมเจ้าท่าก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ในปี 2541
ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงนักวิชาการ ต่างยอมรับว่า การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำคือต้นตอสำคัญของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย
Cr.Beach For Life
เจ๊ะหมัด สังข์แก้ว ประชาชนชาวสะกอมกล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมาก
“จะขึ้นลงชายหาดลำบากมาก ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อชายหาดที่ชุมชนใช้ประโยชน์ การฟ้องคดีครั้งนี้ ตอนแรกเขาไม่รับฟังความคิดเห็นของพวกเราทั้ง 10 คนเลย พวกเรามีสิทธิที่จะฟ้องคดีกับกรมเจ้าท่าที่ทำชายหาดเสียหาย...”
ขณะที่ ศุภวรรณ ชนะสงคราม นักพัฒนาเอกชน กล่าวว่า หากย้อนไปสมัยเริ่มทำโครงการ เขาบอกว่าสร้างแล้วจะไม่ต้องขุดลอกอีกต่อไป แต่ท้ายสุดวันนี้ปากร่องน้ำตื้นเขินเหมือนเดิม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือเขื่อนกว่า 3 กิโลเมตร
“การที่ชุมชนฟ้องคดีต่อศาลครั้งนี้ คาดหวังให้คำพิพากษาสร้างบรรทัดฐานใหม่ เขื่อนหินกันคลื่น ที่ทำโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น
และสร้างผลกระทบภายหลัง ต้องดำเนินการรื้อออก ไม่อย่างนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดชายหาดของประเทศไทยก็จะหมดไป"
- ยกฟ้องคดีชายหาดสะกอม จ.สงขลา
จากจุดเริ่มต้นในปี 2541 กรมเจ้าท่า ได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 แห่ง ต่อมาปี 2541- 2551 เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงตามแนวชายหาด 3 กิโลเมตร ประชาชนสะกอมลุกขึ้นมาใช้สิทธิฟ้องคดีในปี 2551 นำไปสู่ศาลปกครองสงขลา
ปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โครงการไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม(EIA) ก่อนดำเนินการ เเละสร้างผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนเเรง ให้ดำเนินการทำ EIA ภายใน 60 วัน ต่อมาปี 2554-2565 ได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ล่าสุด วันที่ 26 มกราคม 2565 ชาวบ้านสะกอม จ.สงขลา ได้เดินทางมาศาลปกครองสงขลา เพื่อฟังคำพิพากษา “คดีหาดสะกอม จ.สงขลา” ที่ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิตรวจสอบการดำเนินโครงการของภาครัฐ
เป็นคดีที่ใช้เวลาพิจารณานาน 14 ปี ชาวบ้านหวังว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยฟื้นฟูหาดสะกอมให้กลับสู่สภาพเดิมเเละชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า เป็นการดำเนินโครงการที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในเวลานั้นการก่อสร้างเขื่อนกันทรายเเละคลื่น ไม่ต้องทำ EIA เเละการก่อสร้างเขื่อนกันทรายเเละคลื่นไม่ใช่การถมที่ดินในทะเล รวมถึง กรมเจ้าท่ามีการติดตามอยู่เป็นระยะ จึงยกฟ้องคดี