ต้อนรับวาเลนไทน์ "อกหัก" อย่างไร? ให้ชีวิตได้ไปต่อ
“ความรัก” เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบังคับใครได้และความรักไม่ใช่เรื่องผิด ทว่าหลายๆ ครั้งที่ทุกคนผิดหวังจากความรัก มักจะแสดงออกในรูปแบบแตกต่างกันออกไป
บางคนอาจจะยอมรับความผิดหวังได้ หรือไม่ได้ และหากใครยอมรับความผิดหวังไม่ได้ จะทำทุกอย่างเพื่อรั้งคนๆ หนึ่งเอาไว้ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย หรือการฆ่ากันตาย
วาเลนไทน์ ปีนี้ “คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้จัดโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ "จิตวิทยากับความรัก" ในวันศุกร์ที่ 4 ก.พ.2565 และวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดความรู้โดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
- ความรักปัจจุบันมีความหลากหลาย
ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เล่าว่าจากประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาจากผู้คนทุกเชื้อชาติ พบว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศที่มีมากกว่าเพศหญิงและชาย และไม่มีการปิดกั้นเฉพาะความรักหญิงชาย เฉพาะเพียงฉันกับเธอ
“ขณะนี้ มีความสัมพันธ์ลักษณะแบบ Open Relationship เป็นความสัมพันธ์แบบเปิดที่ทุกคนสามารถสำรวมความต้องการของตนเอง และเรียนรู้ความรักความต้องการของตนเองได้ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา หรือคำบอกเล่าของสังคมว่าหญิงต้องคู่กับชาย และต้องมีเพียง 2 คนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ที่พบเจอจะหลากหลาย เพียงแต่จะเลือกเล่า หรือบอกเล่าประสบการณ์แก่คนอื่น” ดร.พนิตา กล่าว
“คนยุคใหม่” ไม่ยึดติดกรอบศีลธรรม
ดร.พนิตา เล่าต่อว่าความรักของคนยุคใหม่ เขาไม่ได้มองเรื่องกรอบของศีลธรรม หรือความดี เพราะเรื่องของความรัก ความรู้สึก ไม่ได้มองว่าใครมีศีลธรรม หรือความดี และไม่จำกัดกรอบ ซึ่งคนรุ่นใหม่มักมีคำถามหากมีคนมาพูดว่า ความรักต้องมีเพียง2 คน หรือเมื่อคบกันมาอยู่ด้วยกันต้องแต่งงานกัน เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าความดีในความรักเกิดจากไหน หรือใครเป็นกำหนด
โดยมุมมองความรักดังกล่าว จะแตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ หรือเจนอื่นๆ คนรุ่นเก่าคนรุ่นเก่าจะอดทนกับความรัก เพื่อรักษาสถาบันครอบครัว และมองว่าเมื่อรักกันต้องแต่งงานกัน แต่ปัจจุบันถ้ารักกันแล้วไม่มีความสุข การอยู่ด้วยกันแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุขพวกเขาจะไม่ฝืน และมองว่าทำไมต้องจำกัดความรักความต้องการของตัวเอง เพื่อให้คนข้างนอกมองว่าดี
สำหรับกรณีที่ในปัจจุบันมีการชื่นชมความรักที่คนๆ หนึ่งสามารถคบกันได้หลายคน ไม่ได้เรียกว่ากิ๊ก หรือชู้ แต่หลายๆ คนล้วนเป็นคนรักต่อกันนั้น
ดร.พนิตา เล่าว่า ด้วยความที่ทุกคนไม่ได้จำกัดกรอบ ไม่ได้มองว่าคนอื่นจะมองความรักของตนเองเป็นรูปแบบใด แต่สนใจความสุข ความต้องการที่ตกลงกับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ดังนั้น กรณีที่เห็นคนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ชื่นชมผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือเพศไหนก็ตามที่มีแฟนได้หลายๆ คน คงตอบไม่ได้ว่าคนทุกคนจะคิดเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อน คือ ทุกคนอยู่ด้วยกันได้หมดไม่ว่าในความสัมพันธ์นั้นจะมีกี่คน และเป็นเรื่องของข้อตกลงของแต่ละคน
"ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือเพศที่สาม หรือเพศไหนๆ ทุกคนมองว่าเป็นสิทธิเท่ากัน ผู้ชายทำได้ ผู้หญิง หรือเพศไหนๆ ก็ทำได้ ไม่มีใครมองว่าหากผู้หญิงคบหลายคนแล้วจะไม่โอเค ดูไม่ดีเหมือนในอดีต ทุกคนยอมรับความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้ เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของแต่ละคู่ แต่ละคน" ดร.พนิตา กล่าว
- "เวลา" คีย์สำคัญในการรับมือกับความรัก
ขณะที่กรณีการหึงหวง การรู้สึกเมื่อรักใครแล้วต้องเป็นเจ้าของคนๆ หนึ่ง และเมื่อไม่ได้ก็จะเกิดความรุนแรง หรือฆ่ากันตายนั้น ดร.พนิตา เล่าต่อไปว่า ปัญหาการฆ่ากันตาย ความรุนแรงในความรักมีมานานและปัจจุบันยังมีอยู่ ต่อให้บริบทสังคม คนเราสามารถเลือกคู่ได้หลากหลาย เราอาจจะOpen Relationship แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถ้าความรักจบลงและถูกทิ้ง อาจมองว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ คนๆ นี้เป็นของตนเอง ยึดถือเชื่อมั่นในคนๆ เดียว
"วิธีจัดการรับมือกับปัญหาความรัก จริงๆ ไม่ได้มีข้อสรุปตายตัว แต่คีย์สำคัญ คือ เวลา อารมณ์รัก เสียใจ ผิดหวัง เศร้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเวลารักใคร เราก็จะรักแบบมากขึ้นแต่อย่าลืมว่าเมื่อมากขึ้นได้ ก็ย่อมน้อยลงได้เช่นเดียวกัน รักมากแต่งงานกันแต่วันหนึ่งก็อาจหย่ากันได้เมื่อหมดรัก ทุกอย่างต้องใช้เวลา" ดร.พนิตา กล่าว
"คนรุ่นใหม่" มีส่วนหนึ่งที่มองว่าการแต่งงานยังสำคัญ หรือบางคนมองว่าจดทะเบียนยังจำเป็น แต่ด้วยความหลากหลายของมนุษย์ สุดท้ายความรักกลายเป็นข้อตกลงร่วมกัน ถ้าข้อตกลงกัน สื่อสารกันเมื่อความรัก ความต้องการเปลี่ยน น่าจะเป็นช่วยจัดการกับความรักได้
ดร.พนิตา กล่าวต่อว่า เมื่ออกหัก สิ่งที่ต้องทำ คือให้เวลากับตัวเอง บางคนมูฟออนช้า เร็วแตกต่างกัน แต่ละคนมีความต้องการ บริบทแตกต่างกัน บางคนอกหักแล้วไม่มีใครแฟนใหม่ ไม่มีใครมาจีบ หรือไม่ต้องการใคร ก็จะเศร้านาน มูฟออนช้าหน่อย แต่บางคนที่เปิดใจเร็ว เมื่อมีใครมาจีบก็ให้โอกาส คนเหล่านี้ก็จะมูฟออนเร็ว ฉะนั้น เวลาอกหักการจัดการแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระยะเวลาไม่เท่ากัน
- บล็อก เลิกเป็นเพื่อนกับแฟนเก่าช่วยได้หรือไม่?
ดร.พนิตา กล่าวต่อไปว่า ทุกคนต่างมีพื้นที่ของตนเองในโลกโซเซียลมีเดีย ซึ่งเมื่อเวลาอกหัก หรือเลิกกัน หลายคนจะใช้วิธีการส่อง หรือการบล็อก หรือพยายามเลิกคน หรือพยายามเป็นเพื่อนต่อ ซึ่ง การบล็อก การไม่รับรู้เรื่องของแฟนเก่าอาจช่วยได้ในระยะสั้นๆ เพราะสุดท้าย คนที่เป็นฝ่ายถูกทิ้งก็มักจะยังรักอยู่ และอยากรู้เรื่องของแฟนเก่า ฉะนั้น ก่อนจะบล็อกหรือเลิกเป็นเพื่อนกับแฟนเก่า ต้องสำรวจตัวเองว่าวิธีการไหนเหมาะกับเรามากที่สุด หลายคนอาจจะควรบล็อกเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดีกว่ามานั่งส่องแฟนเก่า
"วันนี้เราชอบเขาแบบแฟน แต่อนาคตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง การเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามคิดและเข้าใจ สำรวจตัวเอง และยอมรับกับตัวเอง อย่ามองว่าใครผิดและถูก ความสัมพันธ์ ความรักไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่เมื่อผิดหวัง อกหักต้องเรียนรู้ตัวเอง เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นแม้จะไม่ช่วยให้หายเจ็บทันที แต่จะกลับมารักตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น" ดร.พนิตา กล่าว
- จัดการสำรวจตัวเอง และยอมรับ
ช่วงวาเลนไทน์นี้ เป็นชั่วโมงที่ยากสำหรับผู้ที่อกหัก หรือผิดหวังกับความรัก เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่คู่รัก ทว่าในความเป็นจริง คนเรามีความรักเกิดขึ้นได้มากมาย และใช่ว่าจะมีแต่คู่รักเท่านั้น ความรักของพ่อแม่ เพื่อน คนรอบข้างก็จำเป็น
ดร.พนิตา กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการเมื่อตัวเองอกหัก คือ สำรวจและยอมรับกับตนเอง ซึ่งทุกคนสามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ หากได้รับการฝึกให้สำรวจความรู้สึกของตนเอง เพราะหากรู้ถึงความรู้ของตนเองก็จะเชื่อมโยงกับตัวเองได้ดีขึ้น รักตัวเองมากขึ้น ซึ่งการจัดการตัวเอง ไม่ได้หมายถึงการปิดกั้นอารมณ์ ทุกคนสามารถโกรธ เศร้า เสียใจ ร้องไห้ได้ แต่ต้องควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ไม่แสดงออกในทางที่ทำลายตัวเองและผู้อื่น
"เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในแง่ความสัมพันธ์ที่เราจะต้องรักคนอื่น แต่อย่าลืมรักตัวเอง ได้ยินบ่อยมากกับคำว่าให้รู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักในที่นี้หมายถึง รู้จักความสัมพันธ์ของตนเอง ว่าความสัมพันธ์นั้นทำลาย หรือเกื้อหนุนเรา ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ทำลายเรา ต้องคอยระมัดระวัง อารมณ์ความรู้สึก ถ้าเรามองเห็นอย่างน้อยควรเริ่มยอมรับและเมื่อเข้าใจความสัมพันธ์ได้เรื่อยๆ สุดท้าย มนุษย์จะแสวงหาสิ่งที่ดีแก่ตนเอง" ดร.พนิตา กล่าว
คนที่ผิดหวัง อกหัก ควรให้เวลาตัวเอง อย่ามองว่าด้อยู่คนเดียว ไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะจริงๆ เรายังมีเพื่อน มีครอบครัว และหากไม่รู้จะพูดกับใคร สามารถมาคุยกับนักจิตวิทยาได้ สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้จิตวิทยากับความรัก สามารถเข้าร่วมอบรมออนไลน์ ได้ ในวันศุกร์ที่ 4 และวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 - 16.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดความรู้โดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ อบรมทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM ค่าลงทะเบียนคนละ 300 บาท รับจำนวนจำกัดเพียง 100 ที่นั่ง
โดยวันศุกร์ที่ 4 ก.พ. 2565 เวลา 13.00 - 14.30 น. หัวข้อ "ทฤษฎีจิตวิทยากับความรัก" โดย ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ และเวลา 14.30 - 16.00 น. หัวข้อ "จิตวิทยาการเลือกคู่ และความสัมพันธ์ทางเพศ" โดย รศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ
ส่วนวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565 เวลา 13.00 - 14.30 น. หัวข้อ "การจบความสัมพันธ์เมื่อรักถึงทางตัน" โดย อ.ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน และเวลา 14.30 - 16.00 น. หัวข้อ "เมื่ออกหักจะรับมืออย่างไร" โดย อ.ดร.พนิตา เสือวรรณศรี
ผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/7ZQbU9c1UHzreR6C7 หรือสแกน QR Code ได้ที่ด้านล่างโปสเตอร์ประชาสัมพนธ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณวาทินี โทร.09-6730-6232 อีเมล [email protected]