ความต่างฉีด"วัคซีนโควิด" เข้ากล้ามเนื้อ-เข้าชั้นผิวหนัง
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 ,4 จะสามารถเลือกการฉีดได้ 3 รูปแบบตามความสมัครใจ โดยมีวิธีการแตกต่างกัน คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่เป็นแบบเดิม หรือ ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนัง
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19เข็ม 3 เป็นหลัก โดยผ่านการนัดหมายล่วงหน้าวันละราว 30,000 คน แยกเป็น คนเดิมที่เคยฉีดที่ศูนย์แล้ววันละ 15,000 คน จะมีการส่งข้อความไปแจ้งวันเวลาในการฉีด และคนที่ไม่เคยฉีดที่ศูนย์วันละ 15,000 คน จะเปิดให้ลงทะเบียนนัดผ่าน 4 ค่ายมือถือ การให้บริการระบบค่อนข้างสะดวกและไม่แออัด ส่วนการฉีดเข็ม 4 กลุ่มประชาชนทั่วไป เปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นวันแรกสำหรับคนที่ไม่เคยฉีดที่ศูนย์มาก่อน และรับวัคซีนเข็ม 1และ 2 เป็นซิโนแวค และเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ โดยเข็ม 4 ห่างจากเข็ม3อย่างน้อย 3 เดือน
จากข้อมูลวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA ขนาดครึ่งโดส ประสิทธิภาพพอกับการฉีดเต็มโดส และคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภุมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เห็นชอบให้สามารถฉีดได้ทั้งแบบเต็มโดส ครึ่งโดส และเข้าชั้นผิวหนัง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ศูนย์จะเปิดให้ประชาชนที่เข้ารับเข็ม3 ,4 สามารถเลือกวิธีการฉีดได้ 3 แบบตามความสมัครใจ ในกรณีที่ฉีดไฟเซอร์ คือ1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ขนาดยาปกติ 30 ไมโครกรัมต่อโดส 2. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ครึ่งโดส ขนาดยา 15 ไมโครกรัมต่อโดส และ3. การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal : ID) ขนาดยา 10 ไมโครกรัมต่อโดส
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า การฉีดเข้ากล้ามเนื้อและเข้าชั้นผิวหนัง ในแง่ของประสิทธิภาพพอๆกัน แต่การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีการฉีดลึกลง 0.5-1 เซนติเมตรให้ถึงกล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะฉีดเข้าถึงระดับชั้นผิวหนังแท้ ที่ผ่านมามีการฉีดวิธีนี้ในการฉีดวัคซีนเด็กที่ต้องปลูกฝี ซึ่งในการดูดซึมเข้าร่างกายแบบเข้ากล้ามเนื้อจะเร็วกว่า แต่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะค่อยๆดูดซึม อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนปฏิกิริยาที่ค่อยๆเกิดขึ้นนั้น หลักวิชาการอัตราความเร็วที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพยังใช้ได้ ขณะที่ผลข้างเคียงนั้น การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีการอาการที่เกิดขึ้นจากระบบร่างกาย เช่น มีไข้ จะมากกว่าชั้นผิวหนัง แต่อาการข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น คัน ตุ่มแดง แบบเข้าชั้นผิวหนังจะมากกว่า ทั้งนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันผิวหนังมีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง พบว่า มีเกิดตุ่มแดง และหนองเล็กน้อยแต่ไม่ได้มีเชื้อ จะหายเองประมาณ 2-3 วันหลังการฉีด
"หลักๆ ที่ศูนย์ยังให้การฉีดวัคซีนแบบเต็มโดสเป็นหลัก แต่เป็นการเปิดทางเลือกถ้าประชาชนต้องการฉีดครี่งโดส หรือแบบเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งหมดเป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน และดุลยพินิจของแพทย์ โดยสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ว่าต้องการรับแบบไหน และ ขอย้ำว่า ไม่ดราม่าว่าวัคซีนไม่พอแล้วจึงมาเปิดให้ฉีดครึ่งโดส หรือเข้าชั้นผิวหนัง เพราะวัคซีนในสต็อคประเทศมีเพียงพอ แต่ต้องการเปิดเป็นทางเลือกให้ประชาชนตามความสมัครใจ ส่วนผู้ที่ฉีดเป็นวัคซีนแอสตร้าฯยังฉีดแบบโดสปกติ"พญ.มิ่งขวัญกล่าว
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม เด็ก 5-11 ปี ที่ศูนย์จะเปิดให้บริการเด็กปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ได้อยู่ในระบบร.เช่น เด็กโฮมสคูล และเป็นทางเลือกให้สำหรับเด็กที่ไม่ได้ฉีดในร.ร. โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน 4 ค่ายมือถือ ในวันที่ 8 ก.พ.และเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.2565 ประมาณวันละ 5,000 คน
ก่อนหน้านั้น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า วิธีการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย มี 3 แบบ คือ 1.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะฉีดเข้าไปตรงๆ 90 องศา ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้วิธีนี้ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า 2.ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แทงทะแยงผิวหนัง 45 องศาเข้าถึงชั้นไขมัน เช่น วัคซีนรวมหัด คางทูมและหัดเยอรมันวั คซีนไข้สมองอักเสบ และ3.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 10-15 องศาเข้าไป เช่น ป้องกันความรุนแรงของวัณโรค( BCG ) วัคซีนพิษสุนัขบ้า
วิธีการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเดิมถึง 1 ใน 5 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา อายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 1 โดส (0.5 มิลลิลิตร)เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 30 คน กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส (0.1 มิลลิลิตร) ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ศึกษา 4-8 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 จำนวน 31 คนและกลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส (0.1 มิลลิลิตร) ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จำนวน 34 คน ศึกษา 8-12 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน (Antibody responses) และการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell responses)
ผลการศึกษา 14 วันหลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit ) จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU (Arbitrary Unit )
สำหรับ อาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศรีษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้าม โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ขณะที่ นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์(T-cell response) ซึ่งเป็นการตอบสนองของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยเป็นภูมิฯที่เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้วก็จะใช้T-cell ในการจัดการ ซึ่งผลการศึกษา เมื่อฉีดเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า วัดภูมิคุ้มกันหลัง14 วัน พบว่า กลุ่มที่ 1 วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันT-cell อยู่ที่ 52 เท่ากับกลุ่มที่ 2 ที่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังหลังเข็ม 2 ที่4-8 สัปดาห์ และ3.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังหลังเข็ม 2 ที่ 8-12 สัปดาห์ อยู่ที่ 58