กมธ.ท่องเที่ยวรับฟังปัญหา "ปางช้าง-คุ้มเสือ" รับผลกระทบโควิด
คณะกรรมาธิการท่องเที่ยวลงพื้นที่รับฟังปัญหาของผู้ประกอบการปางช้างและคุ้มเสือ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ผู้ประกอบการคุ้มเสือ ตั้งกองทุนอาหารเสือ ระดมทุนซื้ออาหาร ส่วนผู้ประกอบการปางช้าง ยืนเสนอ3 ข้อให้รัฐบาลช่วยเหลือ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ที่สวนเสือ ไทเกอร์คิงดอม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร และคณะ นำโดย นางสิรินทร รามสูต รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ได้เดินทางมาเพื่อรับฟังปัญหาและข้อจำกัดในการประกอบการธุรกิจปางช้างและคุ้มเสือ พร้อมทั้งหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีพลตำรวจตรีปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยสมาชิกสมาคม ผู้ประกอบการปางช้าง และคุ้มเสือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นำลงพื้นที่เพื่อสัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้น
นางสิรินทร รามสูต รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้รับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการมาหลายครั้งแล้ว ทางคณะกรรมาธิการจึงได้ลงพื้นที่เพื่อมาสัมผัสกับปัญหา ซึ่งทราบว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งเสือและช้างซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูที่สูงมาก
ทางคณะกรรมาธิการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีนโยบายให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ แต่ยังไม่เพียงพอและเข้าถึงได้ยาก ทางคณะกรรมาธิการรู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศจริงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมารับฟังปัญหา เพื่อที่จะนำไปบอกกล่างกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและมีปัญหาจริง และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังปัญหา และช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
พลตำรวจตรีปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการปางช้างและคุ้มเสือ ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้เคยเรียกร้องกับรัฐบาลไปตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเรียกร้อง ขอให้รัฐบาลช่วยพักชำระหนี้ทุกอย่างของผู้ประกอบการ เป็นเวลา 2 ปี ขณะที่สวนเสือในประเทศไทยมีอยู่ไม่เกิน 5 แห่ง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ขาดสภาพคล่อง
ส่วนปางช้าง ที่ดินของปางช้างส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงอยากขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยนำตั๋วรูปพรรณช้างไปเป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินไปเป็นค่าอาหารช้างในระหว่างที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนั้นอยากให้ทางภาครัฐจัดทำโครงการเพื่อให้อาหารเสือ และ ช้างอย่างยั่งยืน
พลตรีหญิง กชกร ไชยบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คุ้มเสือตระการ จำกัด กล่าวว่า คุ้มเสือตระการ มีสวนเสืออยู่ 3 สาขา ได้แก่ ที่อ.แมริม จ.เชียงใหม่, อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และ ที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลักเป็นชาวต่างชาติ หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 นักท่องเที่ยวหายไปหมด จากเดิมที่เคยมีรายได้วันละ 1 ล้านบาท กลับไม่มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งบริษัทยังคงต้องมีภาระในการเลี้ยงดูเสือที่มีอยู่ 220 ตัว ส่วนพนักงานที่เคยมีอยู่ประมาณ 400 คน ปัจจุบันเหลือพนักงานอยู่ร้อยละ 30 โดยลดวันทำงานลง และให้สลับกันเข้ามาทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัทยังคงต้องการเงินหมุนเวียนเข้ามาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 4-5 ล้านบาท อยากให้ทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือจัดหาสถาบันการเงินที่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท เพื่อนำมาหมุนเวียนในระบบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อนำมาเป็นค่าอาหารให้กับเสือที่เลี้ยงอยู่จำนวน 220 ตัว ซึ่งต้องใช้เงินในการเลี้ยงดูเดือนละประมาณ 700,000 บาท เพื่อให้เสือได้มีอาหารกินทุกวัน สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคอาหารให้กับเสือสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีกองทุนคุ้มเสือ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 020 34887 4858 และ บัญชีกองทุนคุ้มเสือ ธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 358 090 5556
ขณะที่ นายวิทยา พงษ์ศิริ เจ้าของปางช้างล้านนา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการปางช้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมาประมาณ 2 ปี ผู้ประกอบการต้องการเรียกร้องกับรัฐบาล 3 ข้อหลัก คือ 1.ช่วยพักชำระหนี้ของผู้ประกอบการทั้งหมด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19จะดีขึ้น 2. ช่วยจัดการสถาบันการเงินที่สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ 3.ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนช่วยเหลือค่าอาหารช้าง เนื่องจากช้างถือเป็นมรดกของคนไทยที่มีชีวิต นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจุดประสงค์หลักเพื่อมาสัมผัสช้าง