เช็คที่นี่! เมื่อคุณและลูกติดโควิด -19 ต้องทำอย่างไร เมื่อปลดออกจากยูเซ็ป?

เช็คที่นี่! เมื่อคุณและลูกติดโควิด -19 ต้องทำอย่างไร เมื่อปลดออกจากยูเซ็ป?

“โควิด-19” สายพันธุ์โอมิครอนแม้อาการไม่รุนแรง แต่การแพร่ระบาดกลับรุนแรง พบผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักหมื่นกว่ารายทุกวัน อีกทั้งโรคดังกล่าว จะถูกออกจากสิทธิเจ็บป่วยวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ หรือ ยูเซ็ป (UCEP) โดยในวันที่ 1 มี.ค. 2565 มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ขอนำเสนอวิธีปฎิบัติตัว เมื่อคุณ ลูก หรือสมาชิกในครอบครัวมีการติดเชื้อโควิด-19 ว่าควรทำอะไร?  ติดต่อหน่วยงาน หรือโรงพยาบาลไหน?และหากอาการไม่รุนแรงต้องเข้า Home Isolaion ต้องทำอย่างไร? 

  • ทราบผลตรวจว่า ติดเชื้อ ควรทำดังนี้

กรณีที่มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าลูกหรือเด็กในบ้านติดเชื้อโควิด -19 แบ่งได้เป็นหลายกรณี

กรณีที่ 1 เด็กติดเชื้อและผู้ปกครองติดเชื้อ สามารถเข้ารับการรักษาโดยเน้นจัดอยู่เป็นครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง

กรณีที่ 2 เด็กติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel โดยเด็กจะต้องถูกส่งตัวไปรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลหรือ Hospitel อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งการกักตัวสำหรับเด็กมีความซับซ้อนกว่าเคสของผู้ใหญ่ในเรื่องของจิตใจ

โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องแยกห่างจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แพทย์แนะนำว่า เมื่อเด็กต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลควรมีคนเฝ้า เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเคว้งคว้าง โดยผู้เฝ้าต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว

กรณีที่ 3 เด็กไม่ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองติดเชื้อ ควรให้ญาติที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้ดูแลเด็ก หากไม่มีผู้ดูแลควรส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงเป็นการชั่วคราว

กรณีที่ 4 เกิดการระบาดเป็นกลุ่มในโรงเรียน หรือในเนิร์สเซอรี่ พิจารณาใช้พื้นที่เนิร์สเซอรี่เป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยดูจากความพร้อมของสถานที่และบุคลากรตามความเหมาะสม

 

  • ขั้นตอนการเตรียมตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 

ผู้ที่ได้รับการยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย ส่วนใหญ่นั้นสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่กับกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และสตรีมีครรภ์ โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

สำหรับขั้นตอนในการเตรียมตัวเข้ารับการรักษา HI หรือโรงพยาบาลนั้น

  • เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
  • ติดต่อ สายด่วน สปสช.โทร 1330 ได้ 24 ชม. ,สายด่วน 1668 โทรได้ตั้งแต่ 08.00 - 22.00 น. หรือ สายด่วน 1669  ได้ 24 ชม.เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง
  • หรือ กรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)
  • งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)
  • หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • สวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว
  • บัตรประกัน (ถ้ามี)
  • โทรศัพท์มือถือส่วนตัว พร้อมที่ชาร์จ รวมถึงเบอร์ติดต่อบุคคลสำคัญ
  • ยารักษาโรคประจำตัว (ถ้ามี) รวมถึงบัตรนัดที่มีชื่อแพทย์โรงพยาบาลที่รักษาเป็นประจำ
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าอนามัย (สำหรับผู้หญิง), ขวดนม และผ้าอ้อม (สำหรับเด็ก), กระดาษชำระ, ไฟฉายหรือแบตเตอรี่สำรอง
  • เสื้อผ้าสำหรับใส่เปลี่ยนในวันกลับ 1 ชุด
  • เงินสดเล็กน้อย, บัตรเอทีเอ็ม, บัตรเดบิต, บัตรเครดิต
  • หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ
  • ถุงผ้าอเนกประสงค์ หรือถุงพลาสติก เพื่อใส่ของที่จำเป็น

 

  • ข้อปฏิบัติ ขณะรอรถมารับไป รพ.

แนะวิธีดูแลตัวเองอยู่บ้าน ขณะที่รอการรับการรักษาที่ รพ. ดังนี้

  1. กักตัวในห้องแยกจากผู้อื่น ไม่อยู่กับใคร ในห้องแอร์ หากจำเป็นต้องอยู่ห้องกับใครให้เปิดหน้าต่างไว้ให้อากาศถ่ายเท
  2. สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่ออกมานอกห้องหรือต้องเข้าใกล้ผู้อื่น
  3. แยกของใช้ อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำ ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  4. แยกขยะ แยกการใช้ห้องน้ำ ถ้าไม่แยกให้ใช้เป็นคนสุดท้าย
  5. ล้างมือด้วยสบู่ หรือถูกมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย
  6. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารสะอาด ตามหลักโภชนาการ ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
  7. ทำจิตใจให้สบาย ลดวิตกกังวล
  8. เมื่อใช้ลิฟต์ พกปากกา ไม้ลูกชิ้น เป็นที่กดลิฟต์ ไม่ยืนพิงลิฟต์หรือสัมผัสลิฟต์
  9. หากมีอาการป่วย เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น ให้ติดต่อสายด่วน 1669 , 1668 , หรือโหลดแอปฯ EMS 1669 เพื่อกดเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน
  10. กรณีอยู่บ้านหรือคอนโด กรุณาแจ้งนิติบุคคล
  • เมื่อเด็กเล็กติดเชื้อต้องกักตัวที่บ้าน

สำหรับเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolationอุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการและบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน ได้แก่

  • ปรอทวัดไข้
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้
  • ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่

โดยสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแบ่งระดับอาการของเด็ก ออกเป็น 2 ระดับ

ระดับที่ 1 คือ อาการที่ยังสามารถสังเกตอาการของเด็กที่บ้านต่อไปได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารหรือนมได้ตามปกติ ไม่ซึม

ระดับที่ 2 คือ ระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กไปส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร

  •  ทางเลือกเพื่อเข้ารับการรักษาโควิดหากตรวจกับเอกชน

หากคุณอยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน แล้วพบว่าติดเชื้อจากการเลือกเข้าตรวจกับห้องปฏิบัติการเอกชนเอง มี 2 ทางเลือกเพื่อเข้ารับการรักษาโควิด-19

ทางเลือกที่ 1 เข้ารับการรักษาโควิดฟรี

  • เดินทางไปยังโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนที่รองรับสิทธิ์
  • โทร 1669 หรือโทรเรียกรถพยาบาลโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านให้มารับ
  • แจ้งประวัติให้ชัดเจน แจ้งสิทธิประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันวินาศภัย (ถ้ามี)
  • ได้รับการรักษาตามสิทธิ์ค่าใช้จ่ายตามประกาศกระทรวง
  • ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง อาจได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอลพิเทล ในกรณีที่เตียงในสถานพยาบาลมีจำกัด

ทางเลือกที่ 2 เข้ารับการรักษาโควิดกับโรงพยาบาลเอกชน

  • โทรศัพท์แจ้งไปยังโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ให้ส่งรถพยาบาลมารับ หรือเดินทางไปยังโรงพยาบาล โดยแจ้งประวัติอย่างชัดเจน แจ้งให้ชัดว่ามารักษาโควิดก่อนเดินทางไป
  • แจ้งสิทธิ์ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ ที่มี
  • ได้รับการรักษาตามวงเงินในประกันวินาศภัยหรือประกันสุขภาพที่มี หรือใช้สิทธิ์จ่ายเอง
  • ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือฮอลพิเทลในเครือข่าย กรณีที่สถานพยาบาลมีเตียงจำกัด

นอกจากผู้ติดเชื้อที่ต้องปฎิบัติตัวในการเข้ารับการรักษาแล้ว บุคคลใกล้ชิดก็ต้องมีข้อปฎิบัติเช่นเดียวกัน

  • คนใกล้ชิดที่พบปะกับผู้ป่วยยืนยันต้องปฎิบัติดังนี้

เมื่อพบว่าเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่เพิ่งพบปะกันเป็นผู้ป่วยยืนยันแล้ว ถือว่าคุณเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัว ต้องปฏิบัติดังนี้

1. แจ้งหยุดงาน หยุดเรียน ไม่เดินทางไปพื้นที่สาธารณะ 14 วัน
2. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในห้องแอร์ สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่คลุกคลีกับผู้สูงอายุและเด็ก
3. สังเกตอาการตัวเอง วัดไข้ตัวเองทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ต้องรีบพบแพทย์
4. ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ในถุงขยะก่อนมัดปากถุงทิ้ง ปิดปากถุงให้สนิท
5. พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารปรุงสุก
6. ทำกิจกรรมผ่อนคลาย ลดความเครียด

กรณีพักร่วมกับผู้อื่นในบ้าน หอพัก หรืออื่นๆ

หากคุณต้องกักตัวอยู่ในที่พัก ร่วมกับบุคคลอื่นในครอบครัว หรือหอพัก แจ้งให้กับบุคคลอื่นทราบ เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อต้องจัดส่งอาหาร และของใช้ รวมถึงเตรียมน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค* เพื่อใส่ในถุงขยะก่อนส่งกำจัด เพื่อลดการแพร่เชื้อ

  • เตรียมอุปกรณ์ ของใช้ในชีวิตประจำวันให้เพียงพอต่อการกักตัว 14 วัน
  • แยกใช้ห้องนอน ห้องน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบาย
  • แยกของใช้ให้ชัดเจน ทั้งจานชาม แก้วน้ำ ฯลฯ และอุปกรณ์ทำความสะอาด
  • เตรียมอุปกรณ์ชำระร่างกาย แยกเพื่อใช้เฉพาะผู้กักตัว
  • แยกการซักผ้า ไม่ซักร่วมกับผู้อื่น
  • หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น ทำความสะอาดห้องน้ำเมื่อใช้เสร็จ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  • หอพัก คอนโด และสถานที่พักอาศัย ต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ด้วยวิธีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยผู้ทำความสะอาดต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองทุกครั้ง

 

อ้างอิง :กรมอนามัย ,รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนลอ้อมน้อย,กรมการแพทย์