เข้าถึงการรักษา "โรคมะเร็ง" อย่างเท่าเทียม เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วย
“วันมะเร็งโลก” 4 กุมภาพันธ์ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากโรคมะเร็ง สปสช. เตรียมปรับปรุงบัญชีการเบิกจ่ายการรักษาโรคมะเร็ง เน้นประสิทธิภาพของยาในการรักษาบรรจุอยู่ในโปรโตคอล 42 รายการ เพื่อให้คนไข้เข้าถึงการรักษา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โรคมะเร็ง จัดเป็น 1 ใน 10 โรคไม่ติดต่อที่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพของประชากรโลก เฉพาะในปี 2563 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึงกว่า 10 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) จึงได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมะเร็งโลก” เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตระหนักถึงผลกระทบด้านต่างๆ จากโรคมะเร็ง และเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง
งานเสวนาเนื่องใน วันมะเร็งโลก “Close the care gap ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยของโรคมะเร็ง ตระหนักถึงสิทธิการรักษาของตนเอง และเสวนาหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น
โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน และ Mr.Omar Akhtar ผู้อำนวยการด้วยวิจัยเศรษฐศาสตร์และผลลัพธ์ด้านสุขภาพของ บริษัท Ipsos นำเสนอรายงานการศึกษา ในหัวข้อ Modernization of Thai HTA-Identifying Alternative Approaches in Thai HTA to Improve Cancer Patient Outcomes (รายงานการศึกษาเพื่อเสนอแนะแนวทางการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง)
นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาร่วมอภิปรายปัญหาการเข้าถึงการรักษา ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงการรักษาด้วยยารักษามะเร็งชนิดใหม่ๆ อย่างทันท่วงที โดยใช้ “ข้อตกลงร่วมแบบกระจายความเสี่ยง” (Managed Entry Agreement; MEA) ซึ่งจะเป็นกลไกลสำคัญที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการรักษา ตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า “สิทธิบัตรทอง” ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ, สิทธิประกันสังคม สำหรับลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
จัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา
ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนา “ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของคนไทยเข้าร่วม นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้กล่าวว่า การดำเนินในการพิจารณาเรื่องแนวทางการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาใหม่ต้องอาศัยช่วงเวลา อาจทำให้เกิดความล่าช้าและตอนนี้ก็กำลังศึกษากระบวนการทำงานของคณะบัญชียาหลัก และเห็นด้วยกับการมีหลายๆ ทางออก ตามแนวทางในการเสนอการบริหารงบประมาณตามรายงานฉบับนี้โดยอยากจะให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยกันเพื่อนำไปสู่รูปธรรมที่ดำเนินการได้จริง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งคือค่าใช้จ่าย ดังนั้น สปสช.ต้องทำให้ราคาสมเหตุสมผล จัดการให้ราคาในภาพรวมลดลง โครงการ Cancer Anywhere ซึ่งผู้ป่วยสามารถเดินทางไปเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใช้เวลารอคิวสั้นลงและค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ยังคงคุณภาพการบริการที่น่าพึงพอใจ ทำให้ภาพรวมของงบประมาณประเทศลดลงบางส่วน
จ่อปรับบัญชีเบิกจ่ายรักษามะเร็ง
นอกจากนี้ สปสช. เตรียมปรับปรุงบัญชีการเบิกจ่ายการรักษาโรคมะเร็ง Protocal โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเสนอรายการยา เน้นประสิทธิภาพของยาในการรักษาบรรจุอยู่ในโปรโตคอล 42 รายการ เพื่อให้คนไข้เข้าถึงยา นำ Managed Entry Agreement หรือทำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ยาโดยกำหนดเงื่อนไขการสั่งใช้และทำระบบการกระจายความเสี่ยงร่วมกับบริษัทผู้จำหน่าย ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสในการต่อรอง และอาจจะได้แพ็กเกจในการรักษาที่ดีขึ้น
ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานและยานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น ตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
“มะเร็ง”รับมือได้ใช้ชีวิตมีความสุข
ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งโรคสงบมากว่า 6 ปีแล้วและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข กล่าวว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรับมือได้ โดยใช้สติ กำลังใจ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผู้ป่วยมะเร็งมีความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี จากแผนการรักษาและอาการข้างเคียง ด้านการดูแลและกำลังใจจากครอบครัว รวมถึงด้านการเข้าถึงการรักษามะเร็งซึ่งยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากการกระจายตัวของโรงพยาบาล ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์
ข้อจำกัดในการเข้าถึงยารักษามะเร็งบางชนิด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนั้นมักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดต้องใช้เวลาเดินทางนาน กระบวนการวินิจฉัยหรือรักษาเมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาลแล้วก็ยาวนานมากเพราะความแออัดของสถานพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง