"จิตอาสา" ทุกช่วงวัย ต.หนองกระทุ่ม โคราช สร้างตำบลสุขภาวะ
ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีประชากรทั้งหมด 8,491 คน มีการรวมกลุ่มโครงการ "จิตอาสา" ทุกช่วงวัย รวมกว่า 7,817 คน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงวัย เชื่อมโยงการทำงานท้องถิ่น รพ.สต. สร้างตำบลสุขภาวะ จนได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.
“จิตอาสา" ทุกช่วงวัย ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 7,817 คน ทั้งเด็ก วัยกลงคน และผู้สูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 8,491 คน นับเป็นการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และ รพ.สต. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงอายุ เพิ่มความเข้มแข็งในชุมชน สร้างสุข 5 มิติสำหรับสูงวัยได้เป็นอย่างดี
โครงการ "จิตอาสาทุกช่วงวัย" ต.หนองกระทุ่ม เริ่มตั้งแต่ปี 2543 จาก "จิตอาสา" กลุ่มอาชีพ ขยายสู่การช่วยเหลือในทุกๆ ด้านภายในชุมชน อาทิ การช่วยงานศพ ตั้งแต่ถือผ้างานศพ เป็นแม่ครัว เสิร์ฟน้ำ จัดสถานที่ จัดดอกไม้ ผูกผ้า เพื่อลดภาระเรื่องเงิน จิตอาสาจะช่วยฟรีทั้งหมด จุดแข็งของ ต.หนองกระทุ่ม คือ ความเป็นจิตอาสา สามัคคี ผู้นำท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ รวมถึงโรงเรียน และทีมงานขององค์การบริหารส่วนตำบลที่เข้มแข็ง
ไปจนถึงการทำงานกับเด็ก รณรงค์ป้องกันท้องก่อนวัยอันควร ส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับปู่ย่าตายาย ดึงศักยภาพผู้สูงอายุให้มีบทบาทในชุมชน มีวัฒนธรรมรำสวย โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพผู้สูงอายุ กิจกรรมสุขภาพ
โดยมี โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นจุดศูนย์รวมให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในชุมชน ได้มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรม เรียนรู้ ทุกวันพุธ โดยในแต่ละรุ่น มีระยะเวลาในการเรียน 12 สัปดาห์ ขณะนี้ มีนักเรียนสูงวัยกว่า 100 คน ผู้สูงอายุบางคนที่เรียนจบไป ยังเดินทางมาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะนำสินค้าไปจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า ผักสวนครัว ขนม วุ้นที่ทำเองเรียกว่าตลาดนัดผู้สูงอายุ รวมถึงรณรงค์ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้
"สุทิน ชาติพุดซา” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระทุ่ม เล่าว่ากิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ 50% จะเน้นการดูแลสุขภาพ ขณะที่ 20% จะเป็นการเข้าถึงสิทธิของผู้สูงอายุว่าสามารถทำอะไรได้ตามกฎหมายข้อบังคับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และอีก 30% คือ กิจกรรมนันทนาการ โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สนับสนุนเรื่องความรู้ วิชาการ สร้างสุข 5 มิติ ไม่เน้นวิชาการ เน้นปฏิบัติ สนับสนุนการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมกับมีกลุ่มไลน์ของโรงเรียนในการพูดคุย
“แม่ประทีป จันทร์หมื่นไวย” จิตอาสาวัย 70 ปี ประธานศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุและคนพิการ ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ ต.หนองกระทุ่ม เผยว่า กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน จะมีบัดดี้ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ต่างหมู่บ้าน โดยทุกวันพุธที่ไปเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ จะมีการถามไถ่ ทานข้าวร่วมกัน และแบ่งปันกัน โดยทุกคนก็ร่วมอยู่ในโครงการจิตอาสาด้วย
แม่ประทีป เป็นจิตอาสามากกว่า 15 ปี ตั้งแต่ช่วงเป็นครูที่โรงเรียนประถมศึกษา (โรงเรียนบ้านต่างตา) ซึ่งในช่วงนั้นได้รับหน้าที่ให้เป็นวิทยากรให้กับชุมชน สอนความรู้ในด้านต่างๆ ส่งเสริมสร้างอาชีพ ทำให้ได้ทำงานจิตอาสาไปด้วย หลังจากเกษียณอายุราชการ จึงใช้เวลาว่างทำงานกับชุมชนในหลายหน้าที่ทั้งกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ประธานศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุและคนพิการ ประกอบกับโรงเรียนผู้สูงอายุก่อตั้งขึ้นมาในปี 2561 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย
ในโรงเรียนผู้สูงอายุขณะนี้ มีครูที่ช่วยดูแลรวม 4 คน ซึ่งเป็นครูจิตอาสา และครูที่เกษียณอายุ รวมถึง รองนายก อบต. มาช่วยกันให้ความรู้ หากในช่วงที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ไม่ได้มา ตนและครูคนอื่นๆ ก็จะช่วยกันให้ความรู้เรื่องสุขภาพ สอนวิชาชีพ เช่น ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นต้น
"การเป็นจิตอาสาทำให้เราได้ทำเพื่อคนอื่น ทำให้มีความสุข ไม่เครียด และทำให้คนอื่นได้มีความสุขไปด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจแข็งแรง ส่งเสริมให้ตัวเองและคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย" แม่ประทีป กล่าว
นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแล้ว ต.หนองกระทุ่ม ยังมีการทำงานในด้านการดูแลเด็กปฐมวัย การป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการส่งเสริมครอบครัวอบอุ่น การจัดการขยะ การจัดการภัยพิบัติ การจัดการการดูแลสุขภาพในชุมชน การจัดการอาหารชุมชน การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การควบคุมการบริโภคยาสูบและการแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันอุบัติเหตุจราจรและการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโรคติดต่อ โดยเฉพาะในช่วงโควิด -19 ที่มีการทำงานร่วมกันของทั้งชุมชน รพ.สต. และท้องถิ่น ในการแจ้งข่าว ส่งต่อ เพื่อให้ผู้ป่วย ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงช่วยกันดูแลผู้ที่ต้องกักตัว จัดส่งสิ่งของ และถุงยังชีพให้อีกด้วย
ตำบลสุขภาวะ
เป็นแนวทางของ สสส. ในการส่งเสริมการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การสร้างเครือข่ายกันในสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มความเข้มแข็งในชุมชน ดึงศักยภาพ สร้างสุข 5 มิติสำหรับสูงวัย
ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ถือเป็นหนึ่งในตำบลสุขภาวะที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. มากว่า 3 ปี โดยชุมชนแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ชุมชนกึ่งเมือง ได้แก่ หมู่ 1 , หมู่ 2 , หมู่ 3 , หมู่ 5 , หมู่ 6 และ ชุมชนกึ่งชนบท ได้แก่ หมู่ 4 , หมู่ 8 หมู่ 9 ประชากรทั้งหมด 8,491 คน แบ่งเป็น เพศชาย 4,273 คน และหญิง 4,708 คน
ปัจจุบัน มีจิตอาสาทั้งหมด 7,817 คน คิดเป็นร้อยละ 85% ของประชากรทั้งหมด แบ่งเป็น เด็ก (ต่ำกว่า 18 ปี) 1,273 คน คิดเป็น 14% วัยกลางคน (18-59 ปี) 4,827 คน คิดเป็น 58% และ ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 1,117 คน คิดเป็น 13% จากประชากรทั้งหมด 8,491 คน การเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนดังกล่าว ทำให้ ต.หนองกระทุ่ม ได้พัฒนาเป็นแม่ข่ายตำบลสุขภาวะ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มา 3 ปี โดยการทำงานตอบโจทย์ 3 ส. ได้แก่ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง
การสร้างสุข 5 มิติ
ตามความหมายของกรมสุขภาพจิต ในคู่มือวิทยากร “จัดกิจกรรมสร้างความสุข 5 มิติ สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน” ได้แก่
“สุขสบาย” ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพร่างกายการปฏิบัติกิจวัตรประจำ วัน และพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ
“สุขสนุก” เป็นความสามารถของผู้สูงอายุในการเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส
“สุขสง่า” เน้นความเข้าใจในความเป็นไปในชีวิต ความมีคุณค่าในตนเอง มีมุมมองและความรู้สึกต่อตนเองและผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจไม่ซึมเศร้าไม่ท้อแท้
“สุขสว่าง” เป็นความสามารถด้านความจำ ความเข้าใจความคิดแบบนามธรรม การสื่อสารการใช้เหตุผลและการวางแผนแก้ไขปัญหา
“สุขสงบ” เป็นการรับรู้เข้าใจความรู้สึกของตนเองรู้จัก ควบคุมอารมณ์และสามารถจัดการกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4 องค์กรเคลื่อนตำบลสุขภาวะ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่สสส.ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ได้สร้างรูปแบบและแนวทางการทำงานที่สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงาน
โดยเฉพาะความร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ภาคประชาชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของตำบลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ส่งผลให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ได้เกือบทุกพื้นที่ โดยก้าวต่อไปของเรา คือการทำงานเจาะลึกทีละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ อุบัติเหตุ หรือเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเข้าไปให้ถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง