เริ่มแล้ว! เปลี่ยนผ่านโควิด19 สู่ “โรคประจำถิ่น” เข้าระบบ “เจอแจกจบ” เป็นอย่างไร?

เริ่มแล้ว! เปลี่ยนผ่านโควิด19 สู่ “โรคประจำถิ่น” เข้าระบบ “เจอแจกจบ” เป็นอย่างไร?

เริ่ม 1 มี.ค.65 สธ. ปรับนโยบายเปลี่ยนผ่านให้ "โควิด-19" เป็น "โรคประจำถิ่น" ให้รัฐดูแลตามสิทธิของแต่ละคน หากเป็น "ผู้ป่วยสีเขียว" ที่มีอาการไม่รุนแรง จะได้รับการดูแลแบบ "เจอ แจก จบ" รับยากลับบ้านได้

วันนี้ 1 มีนาคม 2565 ถือเป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยปรับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19  จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในที่สุดโดยเหตุผลส่วนใหญ่คือ ณ ปัจจุบันโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย และประชาชนก็มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว 

เริ่มแล้ว! เปลี่ยนผ่านโควิด19 สู่ “โรคประจำถิ่น” เข้าระบบ “เจอแจกจบ” เป็นอย่างไร?

  • อนาคตโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

ปัจจุบันประชาชนยังสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ทุกที่ ส่วนในอนาคต ผู้ป่วยโควิด จะรักษาฟรีตามสิทธิของแต่ละคน เช่น ตามสิทธิบัตร 30 บาท หรือสิทธิประกันสังคมเป็นต้น แต่ถ้าใช้บริการนอกเหนือจากสิทธิ หรือ รพ.เอกชน ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง เช่น มีสิทธิบัตรทอง แต่รักษาโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายเงินเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตแม้โควิด-19 จะไม่ได้จัดเป็นโรคผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินโควิด-19 แล้ว แต่หากมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ตามที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว ก็จะสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ใกล้บ้านที่สุดตามเดิม ไม่ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์นี้แต่อย่างใด โดยอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ได้แก่

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

 

เริ่มแล้ว! เปลี่ยนผ่านโควิด19 สู่ “โรคประจำถิ่น” เข้าระบบ “เจอแจกจบ” เป็นอย่างไร?

  • ผู้ป่วยสีเขียว อาการไม่มาก เข้าระบบ "เจอ แจก จบ" รับยากลับบ้านได้

หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19  แบบ "เจอ แจก จบ" 

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้กับผู้ป่วยนอกไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI)

โดยเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ 
  • ยาฟ้าทะลายโจร 
  • ยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ 

 

-----------------------------------------

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข