เปิดข้อมูลน่ารู้ โอมิครอน "BA.2.2" พบที่ไหนบ้าง-รุนแรงกว่าพันธุ์อื่นไหม?
เปิดข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย โอมิครอน "BA.2.2" จนถึงขณะนี้ถูกพบที่ไหนบ้าง และมีความรุนแรงกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นหรือไม่ หลังล่าสุด สธ.เผย พบ 4 รายในไทย "เข้าข่าย" ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2
ขณะนี้เกิดกระแสกังวลในประเทศไทยว่า โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ "BA.2.2" ซึ่งระบาดในหลายประเทศ/ดินแดน รวมถึงฮ่องกงในช่วงนี้ อาจเป็นภัยร้ายในอนาคตหรือไม่ หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยวันนี้ (14 มี.ค.) ว่า พบ 4 รายในไทย "เข้าข่าย" ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า จากการตรวจทานข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการสุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวส่งเข้าระบบ GISAID สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่างที่ผ่านมานั้น พบว่า มี 4 รายที่มีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย
อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่า ทั้งหมดอาการสบายดีและบางรายอาจจะหายแล้ว โดยหาก GISAID กำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการแล้ว ไทยก็จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ทางการของทั้ง 4 รายที่เข้าข่ายนี้ด้วย
"ฮ่องกง" พื้นที่ระบาดหลัก BA.2.2
ความกังวลในไทย เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลีเมลของอังกฤษรายงานว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในฮ่องกงและกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ BA.2.2 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างมาก และขณะนี้ได้มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ BA.2.2 ในออสเตรเลียแล้ว
รายงานระบุว่า ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.2 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. ปีนี้ โดยทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเพียง 224 ราย เป็น 2,287 รายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เพียงวันเดียว จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโอมิครอนในฮ่องกงสูงถึง 280 ราย และนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ปีนี้ พบผู้ติดเชื้อราว 450,000 ราย เทียบกับช่วงก่อนไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดในฮ่องกง ขณะนั้นมียอดผู้ติดเชื้อเพียง 50,000 รายนับตั้งแต่ที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด
รายงานระบุด้วยว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในฮ่องกงอยู่ที่ 29.18 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งรุนแรงกว่าสถิติสูงสุดในออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 3.4 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
ส่วนอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันในฮ่องกงอยู่ที่ 193 รายต่อวัน แซงหน้าอินเดียซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 180 รายต่อวัน
พบ BA.2.2 เกือบ 70 รายทั่วโลก
ข้อมูลจาก GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลเชื้อก่อโรคโควิด-19 ของโลก พบว่า ณ วันที่ 13 มี.ค.2565 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก ส่วน BA.2 ขณะนี้มีรายงานสายพันธุ์ย่อยแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ
- BA.2.1 จำนวน 532 ราย
- BA.2.2 จำนวน 68 ราย
- BA.2.3 จำนวน 1,938 ราย
จะเห็นว่า BA.2.1 และ BA.2.3 มีการรายงานเข้าไปจำนวนมากกว่า BA.2.2 แต่ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์ของ GISAID ว่าจะกำหนดชื่อให้ใช้ตามนี้หรือไม่ คาดว่าอีก 2-3 วันอาจจะมีความชัดเจน
ราจ ราจนารายานัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐอาร์คันซอของสหรัฐ กล่าวว่า แม้ไวรัสสายพันธุ์ BA.2.2 จะพบครั้งแรกในฮ่องกง แต่มีรายงานในขณะนี้ว่า พบการแพร่ระบาดเล็กน้อยในสหราชอาณาจักร, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
ยังไม่มีข้อมูล BA.2.2 แรงกว่า-แพร่เร็วกว่าพันธุ์อื่น
นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ที่มีการกลายพันธ์ที่ตำแหน่งสไปก์โปรตีน I1221T โดยพบหลัก ๆ ในฮ่องกง 386 ราย และอังกฤษ 289 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่มาจากคนละสาย จำเป็นจะต้องมีการติดตามต่อไป แต่จากการประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 13 มี.ค. 2565 ใน 4 เรื่อง ดังนี้
1. ความสามารถในการแพร่ (transmission) จากข้อมูลทางระบาดวิทยาไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น
2. ความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราเสียชีวิตสูงกว่าพันธุ์อื่น ๆ ไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยามาสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนที่มีการกลายพันธ์ สไปก์โปรตีน I1221T มีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ
3. ผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลว่ามีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ
4. ระยะฟักตัวและระยะเวลากักตัว เนื่องจากไม่มีข้อมูลแต่การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัวหรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้
นพ.ศุภกิจ เสริมว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นในฮ่องกง "ยังเร็วเกินไป" ที่จะสรุปว่าเป็นเพราะโอมิครอน BA.2.2 ซึ่งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ทำให้เพิ่มพยาธิสภาพในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง และอะไรที่จะอธิบายว่าทำลายอวัยวะของร่างกาย
"จากการติดตามสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ระบาดใหญ่ที่ผ่านมาทั้งอัลฟา เดลตา และโอมิครอน ยังไม่มีสายพันธุ์ย่อยที่มีความน่ากังวลเป็นพิเศษมากไปกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวลหลัก แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยประเมินโอกาสในการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่ได้ และสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล" นพ.ศุภกิจกล่าว
จนถึงขณะนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศกำลังอภิปรายกันเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ไวรัส BA.2.2 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตในฮ่องกงพุ่งขึ้นจนน่าตกใจหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงเหตุบังเอิญ จึงต้องรอข้อมูลยืนยันเกี่ยวกับไวรัส BA.2.2 จากผู้เชี่ยวชาญกันต่อไป