20 มี.ค. "วันความสุขสากล" แล้ว "ความสุข" ของ "คนไทย" อยู่ตรงไหน?
ประชุมสหประชาชาติมีมติกำหนดให้ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันความสุขสากล” (International Day of Happiness) ให้คนทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงความสุขซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ขณะที่รายงานความสุขโลกครั้งล่าสุดของ World Happiness Report พบ “ไทย” อยู่อันดับที่ 61
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ที่ประชุม “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” (United Nations: UN) ได้กำหนดให้วันที่ 20 มี.ค. ของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล" (The International Day of Happiness) โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ
1. เพื่อให้ทุกคนร่วมเฉลิมฉลอง รวมถึงตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชน อีกทั้งความสุขยังเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์
2. เพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ สหประชาชาติได้มุ่งเป้าไปที่ความสนใจของโลกต่อแนวคิดในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะต้องประกอบไปด้วย การรวบรวม ความเสมอภาค และสมดุล เช่นเดียวกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรเทาความยากจน โดยการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายความสุขระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีสหประชาชาติจะจัดทำแคมเปญวันความสุขสากลแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี โดยในปีนี้ใช้ชื่อว่า “HAPPINESS FOR ALL, UKRAINE”
“หากเราสูญเสียประชาธิปไตย หากเราสูญเสียเสรีภาพ เป้าหมายระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสามารถไม่เกิดขึ้นได้ และทุกคนในโลกจะไม่มีความสุขหรือความอยู่ดีมีสุขในโลกอีก ดังนั้นแคมเปญในปีนี้จึงเป็นการเรียกร้องให้ทุกคน ทุกประเทศ สหประชาชาติ และมนุษยชาติทั้งหมดยืนหยัดร่วมกับประชาชน รัฐบาล และประเทศยูเครน ยืนหยัดเพื่อความสุขของอารยธรรมทั้งปวง และมวลมนุษยชาติ" เจย์มี อิลเลียน (Jayme Illien) ผู้ก่อตั้งองค์กรวันความสุขสากลแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDOHappiness กล่าวในแถลงการณ์เคมเปญของวันแห่งความสุขสากลประจำปีนี้
ขณะเดียวกัน สหประชาชาติ โดย เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDSN (United Nations Sustainable Development Solutions Network) ได้จัดทำแบบสำรวจวัดระดับความสุขในประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2555 ในชื่อ “รายงานความสุขโลก” (World Happiness Report) ซึ่งวัดจากปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลให้เกิดความสุขของประชากรในประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลทางสถิติประชากร ข้อมูลทางจิตวิทยา การทำวิจัยเชิงสำรวจ รวมไปถึง ดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีและมีประสิทธิภาพของประชากรที่ใช้ในการประเมินความกัาวหน้าของประเทศ เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกายสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมืองความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม เป็นต้น
สำหรับ การจัดอันดับนั้น จะใช้ 6 ตัวแปร ประกอบไปด้วย
- รายได้ GDP ต่อ ประชากร
- อายุขัยของประชากรที่มีสุขภาพดี
- การรับรู้ถึงการทุจริตในสังคม
- เสรีภาพในการใช้ชีวิต
- ความโอบอ้อมอารี
- การได้รับการสนับสนุนทางสังคม
โดยที่ตัวแปรเหล่านี้เป็นตัวแสดงคะแนนค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยจะมีการติดตามผลและเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ตลอดเวลา นั่นหมายถึงยิ่งได้คะแนนสูงมากเท่าไร ก็จะได้อันดับที่ดี ซึ่งหมายความว่าประชากรในประเทศนั้นมีความสุขมาก
วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา สหประชาชาติ ได้เผยแพร่ รายงานความสุขโลก ประจำปี 2565 ที่เก็บรวบรวมข้อมูลความสุขเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2562-2564 พบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีส่วนในการส่งผลกระทบต่อความสุขผ่านทั้ง 6 ตัวแปร โดยในปีนี้มีการจัดอันดับทั้งสิ้น 146 ประเทศ
รายงานความสุขโลก ประจำปี 2565
- ฟินแลนด์ ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นที่ 5
- เดนมาร์ก
- ไอซ์แลนด์
- สวิตเซอร์แลนด์
- เนเธอร์แลนด์
อันดับสุดท้าย อันดับที่ 146 ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในการสำรวจครั้งนี้คือ อัฟกานิสถาน
ประเทศไทย รั้งอันดับที่ 61 ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของตาราง
หากย้อนดูสถิติคะแนนความสุขของคนไทยในรอบ 8 ปีย้อนหลัง ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557 พบว่า คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยความสุขและอันดับที่ลดลงลดลงเรื่อยมา โดยในช่วงปี 2557 ไทยได้อันดับที่ 34 ก่อนที่จะขยับขึ้นไปที่อันดับ 33 ในปี 2558 และ อันดับ 32 ในปี 2559
จากนั้น ในปี 2560 อันดับของประเทศไทยตกลงมาที่อันดับ 46 และร่วงอย่างแรงมาปี 2561 ในอันดับที่ 52 และลดลงอีกเล็กน้อยในปี 2562 ด้วยอันดับที่ 54 เท่ากับปี 2563 และ 2564 ขณะที่ในปีนี้ร่วงลงไปอยู่ในอันดับที่ 61
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละประเทศที่ในผลสำรวจไม่ได้เก็บข้อมูล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีความสุขลดลง แต่รายงานดังกล่าวก็พอให้เห็นภาพรวมของแต่ละประเทศได้ ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์จะย้ำแย่สักเพียงใด แต่เราควรนะอนุญาตในตัวเองได้มีความสุขตามสมควรบ้าง
ที่มา: Day of Happiness, Happiness Day, ThaiPBS, Thairath, United Nations, World Happiness Report
กราฟิก: ชณิตนันท์ เหมืองจา
(ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. 2565)