วิธีรับมือ "น้ำท่วมฉับพลัน" พี่น้องชาวใต้ 12 จังหวัดเตรียมพร้อม!

วิธีรับมือ "น้ำท่วมฉับพลัน" พี่น้องชาวใต้ 12 จังหวัดเตรียมพร้อม!

พี่น้องชาวใต้เฝ้าระวัง! "น้ำท่วมฉับพลัน" และน้ำป่าไหลหลาก หลังจาก "กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ" ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ชวนรู้วิธีเตรียมรับมือจาก ปภ. เช็กเลย!

เมื่อช่วงดึกวานนี้ (20 มี.ค.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศให้ประชาชน 12 จังหวัดทางภาคใต้เฝ้าระวัง "น้ำท่วมฉับพลัน" และน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง ที่มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น "พายุไซโคลน

โดยคาดว่าบางส่วนของพายุจะพัดปกคลุมทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 21 - 24 มีนาคม 2565 ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง กระบี่ พังงา ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

ดังนั้น ช่วงนี้ประชาชนในทั้ง 12 จังหวัดจึงควรติดตามข่าวสารและประกาศจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงต้องรู้วิธีรับมือน้ำท่วม โดย ปภ. มีคำแนะนำให้แก่ประชาชน ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. วิธีเตรียมตัวก่อนเกิด "น้ำท่วม"

ประชาชนควรติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำ และติดตามประกาศจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ ได้แก่

- เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น วางไว้บริเวณที่สามารถหยิบได้ทันที

- หมั่นสังเกตระดับน้ำและความผิดปกติ เช่น ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น สีของน้ำจะขุ่นเหมือนสีดินภูเขา

- ป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน ทำได้โดยกำจัดขยะไม่ให้อุดตันท่อน้ำ หรือเตรียมจัดหากระสอบทรายมาทำเป็นแนวคันกั้นน้ำ

2. วิธีรับมือเมื่อเจอกับภัยน้ำท่วม

- กรณีสามารถอาศัยในบ้านเรือนได้ ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม

- จากนั้นให้ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว และไม่เข้าใกล้แนวสายไฟ เนื้องจากอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล เป็นอันตรายได้

งดใช้และงดสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด

เพิ่มความระมัดระวังตนเองเมื่อมีเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ สัตว์มีพิษ หากต้องเดินลุยน้ำควรใช้วัสดุที่ลอยน้ำและพยุงตัวได้

3. กรณีที่มีประกาศให้ "อพยพ" ออกจากพื้นที่

- ฟังประกาศและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

- อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย ให้พ้นจากเส้นทางน้ำไหลเชี่ยว แนวดินถล่ม และบริเวณน้ำท่วมสูง

- หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามลำน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมสูง ห้ามสัญจรผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง กระแสน้ำอาจพัดรถออกนอกเส้นทางจนเกิดอันตรายได้

- ประชาชนสามารถแจ้งเหตุสาธารณภัยได้ที่สายด่วนสาธารณภัย โทร. 1784

4. อุปกรณ์ที่ควรเตรียมให้พร้อมสู้ภัย "น้ำท่วม"

หากคุณอยู่ในพื้นที่ที่ทางการประกาศว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก นอกจากการขนของขึ้นที่สูงแล้ว ก็ควรเตรียมข้าวของจำเป็นและชุดยังชีพให้พร้อมไว้ด้วย ดังนี้

- จัดเตรียมของใช้จำเป็นเกี่ยวกับการกินอยู่ เช่น น้ำดื่ม ยารักษาโรค อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ

- จัดเตรียมของใช้จำเป็นอื่นๆ ไว้ใช้งานในยามฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เทียนไข เชือก เสื้อพยุง/เสื้อชูชีพ กระเป๋ากันน้ำ ผ้าสะอาด โทรศัพท์มือถือใส่ซองกันน้ำ ฯลฯ 

- ใช้ไม้ยาวๆ ช่วยสำรวจเส้นทาง (ใช้คลำทางก่อนก้าวเดิน) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในช่วงกลางคืน หากจำเป็นให้ใช้ไฟฉาย ส่องทาง เพื่อป้องกันการพลัดตกท่อระบายน้ำหรือ บ่อน้ำ

- นำวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ห่วงยาง ถังแกลลอน ลูกมะพร้าว ขวดน้ำพลาสติก ยางในรถยนต์ เป็นต้น นำมาใช้พยุงตัวไม่ให้จมน้ำขณะเดินลุยน้ำ

- ห้ามใช้รถยนต์ผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมสูง เพราะรถจะไม่สามารถต้านความแรงของกระแสน้ำ อาจทำให้รถถูกน้ำพัดออกนอกเส้นทางหรือ จมน้ำได้

-----------------------------------

อ้างอิง : ปภ.แนะวิธีรับมืออุทกภัย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย