"ฟ้องทะลุฝุ่น" ทวงคืน "อากาศสะอาด" สิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่/ภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมเป็นโจทย์ร่วมฟ้องคดี "ฝุ่น PM2.5" คืน "อากาศสะอาด" สิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่และนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมเป็นโจทท์ฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ปี 2562
ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบกลับ และแจ้งเพียงว่าได้มีการวัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งเป็นการวัดฝุ่นละอองโดยภาพรวม ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แต่อย่างใด รวมถึงกรณีแผนการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2563 ได้แจ้งว่าดำเนินการร่างยังไม่แล้วเสร็จ แม้ปัจจุบันจะเป็นปีพ.ศ. 2565 แล้วก็ตาม
สำหรับ กระทรวงอุตสาหกรรม นั้นได้แจ้งว่า การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภท PM2.5 จากโรงงาน อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมจะปรับค่าให้เป็นมาตรฐานสากลต่อไป
4 ประเด็น คำขอท้ายฟ้องคดีฝุ่น
สำหรับคำขอท้ายฟ้องในคดี ฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวคล้อมแห่งชาติ ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาคไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล(WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของ ฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
2. ให้คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวคล้อม ร่วมกันออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ออกสู่สิ่งแวดล้อมตาม มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวคล้อม พ.ศ. 2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณ ของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษ หรือสารเคมีที่ โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบ การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้
อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปแล้ว การแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเพราะการป้องกันไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่ายเละใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ และยังช่วยป้องกันผลกระทบต่อประชาชนทุกคนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามหลักแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ปัญหามลพิษด้นฝุ่นละออง" ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เมื่อปี 2562 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนนี้เพิ่มเติมจากหน้าที่ตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย โดยแผนดังกล่าวได้มีการแบ่งมาตรการออกเป็น มาตรการระยะสั้น (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567)
"ซึ่งปี 2564 ที่เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นได้ผ่านไปแล้ว และหน่วยงานรัฐต้องเริ่มการดำเนินการตามมาตรการระยะยาวแล้ว แต่ยังมีการดำเนินการของรัฐที่ล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน"
ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแนวทางการดำเนินงานระยะสั้น (2562-2564) ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ-การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลต้องมีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ตามแผนแล้ว และควรจะมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดทำขึ้นและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามการชี้แจงของกระทรวงอุตสาหกรรมลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น ไม่มีข้อกำหนดให้มีการเผยแพร่ ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิด และปริมาณสารมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของกฎหมาย PRTR ที่ทั่วโลกใช้บังคับอยู่ นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มี "ฝุ่น PM2.5" รวมอยู่ใน "บัญชีสารมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย" ที่จะต้องตรวจวัดอีกด้วย คำชี้แจงดังกล่าวจึงคลุมเครือ
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังดำรงอยู่ กระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน การลุกขึ้นตรวจสอบอำนาจรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน การฟ้องร้องคดีนี้มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้
ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนผลักดันการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ได้ที่ คลิก