"ใจสั่น" ไม่ใช่อาการ "โรคหัวใจ" เสมอไป แต่อาจเข้าข่ายเป็น "โรคแพนิค"

"ใจสั่น" ไม่ใช่อาการ "โรคหัวใจ" เสมอไป แต่อาจเข้าข่ายเป็น "โรคแพนิค"

ชวนเช็กอาการ "ใจสั่น" ที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับคนทั่วไป ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคหัวใจเสมอไป แต่เป็นอาการเบื้องต้นที่บ่งชี้ของหลายๆ โรค รวมถึง "โรคแพนิค"

"ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน" เชื่อว่าหลายคนเคยเป็นอาการเหล่านี้มาก่อน และกลัวว่าตัวเองจะเป็น "โรคหัวใจ" แต่รู้หรือไม่? อาการเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเป็นโรคหัวใจเสมอไป แต่สามารถบ่งชี้ได้หลายๆ โรค รวมถึง "โรคแพนิค" ด้วย

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เคยรายงานไว้ว่า "โรคแพนิค" เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในประชากรไทยถึงร้อยละ 2-5 ของคนทั่วไป หมายความว่าในประชากร 100 คน จะพบคนที่เป็นโรคแพนิคได้มากถึง 5 คน

ไม่แปลกถ้าจะพบว่าคนรอบตัวคุณอย่างน้อย 1 คน กำลังเผชิญกับอาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • "โรคแพนิค" เกิดจากอะไร? 

“โรคแพนิค” ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่เบื้องต้นแพทย์พบว่าเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า "อะมิกดาลา" ทำงานผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม

มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุ หรือไม่มีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

นอกจากนี้ยังเกิดจากพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบด้านลบทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล พักผ่อนน้อย หรือเผชิญกับสภาวะกดดัน อีกทั้งยังมีงานวิจัยยืนยันว่า คนที่เคยผ่านเหตุการณ์กระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงในอดีต ก็ส่งผลให้เป็นโรคแพนิคได้

 

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มมีอาการของ “โรคแพนิค” แต่แยกแยะไม่ออกว่าอาการดังกล่าวเป็น “โรคหัวใจ” หรือ “โรคแพนิค” กันแน่? ไม่แนะนำให้วินิจฉัยโรคเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และยืนยันโรคได้อย่างถูกต้อง

 

  • เช็กอาการของ "โรคแพนิค"

สำหรับโรคแพนิคมักพบในคนอายุน้อย อายุประมาณ 20 - 30 ปี โดยมีอาการดังนี้

  • ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
  • เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
  • ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม
  • หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
  • วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
  • อาการเกิดขึ้นประมาณ 15 - 20 นาทีแล้วค่อยๆ หายไป

 

ทั้งนี้ อาการแบบนี้สามารถพบได้ในหลายโรค เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ, โรคไมเกรน, โรคลมชักบางประเภท แต่ถ้าตรวจไม่พบอาการผิดปกติจากโรคเหล่านี้ ก็เข้าข่ายที่จะเป็นโรคแพนิค

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิคจริง จะมีการรักษา 2 วิธีหลักๆ คือ การใช้ยาและการทำจิตบำบัด เบื้องต้นผู้ป่วยสามารถมั่นใจได้ว่าโรคนี้เป็นแล้วรักษาหายได้และไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ดังนั้นไม่ต้องกังวล  

 

  • เช็กอาการ "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ"

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กลุ่มเสี่ยงมักจะเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจอยู่เดิม อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งย่อยลงไปอีก คือ 1)หัวใจเต้นเร็ว 2)หัวใจเต้นช้า โดยมีอาการดังนี้

  • ใจสั่น หัวใจเต้นรัว ใจเต้นแรง (ชนิดหัวใจเต้นเร็ว)
  • ใจหวิวๆ รู้สึกไม่สบายในอก (ชนิดหัวใจเต้นเร็ว)
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด (ชนิดหัวใจเต้นช้า)
  • เหนื่อยผิดปกติ (ชนิดหัวใจเต้นช้า)
  • เป็นลมหมดสติ (ชนิดหัวใจเต้นช้า)

หากมีอาการเหล่านี้และไปพบแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะให้ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง โดยการติดอุปกรณ์ไว้ที่หัวใจและแขน ขา ทั้งสองข้าง อาจมีการเอาอุปกรณ์ติดตัวให้กลับไปที่บ้านด้วย จากนั้นแพทย์จะนำผลตรวจมาวินิจฉัยอีกครั้ง 

หากพบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจริง แพทย์แนะนำผู้ป่วยเองว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไหนควรจะรักษาอย่างไร บางรายให้รับประทานยาอย่างเดียว บางรายอาจแนะนำการใส่สายตรวจสวนหัวใจ เป็นต้น

--------------------------------------

อ้างอิง : mahidolchulabhorn hospital, สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, กรมสุขภาพจิต