"โรคใหลตาย" ภัยเงียบที่อาจทำให้ "หลับไม่มีวันตื่น"

"โรคใหลตาย" ภัยเงียบที่อาจทำให้ "หลับไม่มีวันตื่น"

"โรคใหลตาย" ภัยเงียบที่แม้แต่ผู้เสียชีวิตเองก็ไม่อาจรู้ตัว พบบ่อยในกลุ่มคนอายุประมาณ 30-50 ปี และในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามีความถี่ของโรคนี้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียสำหรับวงการบันเทิงที่นักแสดงหนุ่มวัย 25 ปี "บีม ปภังกร" พระเอกซีรีส์เรื่อง "เคว้ง" เสียชีวิตกะทันหันในขณะที่นอนหลับ ด้าน นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มน่าจะมาจากภาวะ "ใหลตาย"

พร้อมระบุว่า อยากให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะ “ใหลตาย” ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคใหลตายว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร และมีวิธีการป้องกันอย่างไรบ้าง

 

  • "โรคใหลตาย" คืออะไร?

โรคใหลตาย หรือ Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome (SUND)  เป็นภัยเงียบที่แม้แต่ผู้เสียชีวิตเองก็ไม่อาจรู้ตัว เนื่องจากไม่มีสัญญาณเตือนและเกิดขึ้นขณะนอนหลับอยู่เฉยๆ

โดยภาวะใหลตาย เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียมและวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นเกลือแร่ที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ เมื่อกระแสไฟฟ้าทำงานผิดปกติ จึงมีอาการหัวใจเต้นระริก ไม่บีบตัว และไม่มีการไหลเวียนของเลือด

เมื่อเลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่ทันภายใน 30 วินาทีจะเป็นลมหมดสติ และอีก 4 นาทีต่อมาสมองจะตาย และภายใน 6-7 นาที ถ้ายังไม่ได้รับการช่วยเหลือก็จะเสียชีวิตในที่สุด

จากอัตราการเสียชีวิตที่ผ่านมา พบว่าโรคใหลตายพบบ่อยในกลุ่มคนอายุประมาณ 30-50 ปี และมีความถี่ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสรุปสาเหตุสำคัญมาจาก

- ความผิดปกติทางพันธุกรรมของกล้ามเนื้อหัวใจแต่กำเนิด ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันและเสียชีวิต

- ขาดแร่ธาตุ "โพแทสเซียม" ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด

- บริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนสะสมเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

- ขาดสารอาหาร "วิตามินบี 1" อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อนอนหลับแล้วจะเกิดหัวใจวายเกือบทันที

 

  • "โรคใหลตาย" ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

การป้องกันโรคใหลตาย สำหรับผู้ที่ทราบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่เสมอ ใส่ใจและระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกิน หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน

อีกทั้ง ควรทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี ที่สำคัญควรทานอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอยู่เสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอก ถั่ว เต้าหู้ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เป็นต้น

 

  • การรักษาโรคใหลตายในทางการแพทย์มี 2 วิธี

1. การใช้ยา

2. การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

ในการให้ยานั้นขึ้นอยู่กับอาการโรคใหลตายว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมาก การใช้ยารักษาก็อาจไม่ได้ผล และต้องใช้วิธีฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไปในร่างกายแทน

คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคใหลตายในวันปกติจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แต่ในวันร้ายคืนร้าย กล่าวคือ ในวันพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้า หรือใช้สารเสพติด รวมถึงยาบางอย่างหรือในวันที่ไม่สบาย อาจทำให้อาการใหลตายเกิดขึ้นและเสียชีวิตกะทันหันได้ในวันดังกล่าว

 

  • วิธีรักษาโรคใหลตายที่ดีที่สุด คืออะไร?

คำตอบคือ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะใหลตายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ส่วนการดูแลตัวเองหลังการรักษา ได้แก่ ต้องหลีกเลี่ยงการกดบริเวณหัวไหล่ ไหปลาร้าข้างที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะอาจทำให้สายหัก

ทั้งนี้ ด้านอาหารการกินยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน รับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย 

 

  • การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

เบื้องต้นให้จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่หยุด จนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว

อีกทั้ง ไม่ควรเสียเวลาปฐมพยาบาลแบบอื่นๆ โดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็ง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคนไข้ และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นสาเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน 

--------------------------------------

ที่มา :  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล