รพ.ราชบุรี พัฒนาแอปฯ "ฮุกกะ" เชื่อมข้อมูล สปสช. ต่อยอด "30 บาทรักษาทุกที่"
รพ.ราชบุรี เดินหน้าพัฒนาแอปฯ “ฮุกกะ” เชื่อมต่อข้อมูลกับ "สปสช." เพิ่มระบบส่งต่อ-แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยปฐมภูมิ สานต่อนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่”
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ โรงพยาบาลราชบุรี เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาโปรแกรม “ฮุกกะ” ซึ่งปัจจุบันได้ทำการบูรณาการการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านระบบ API เพื่อแสดงผลข้อมูลสิทธิการรักษาที่เป็นปัจจุบัน และระบบการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ พร้อมทั้ง เยี่ยมชมการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อสนับสนุนระบบส่งต่อ และปฐมภูมิไปได้ทุกที่อีกด้วย
สำหรับ “ฮุกกะ” เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้และเจ้าหน้าที่สำหรับโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคิดค้นโดยทีม IT ของโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของระบบการให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการคิว ระบบแสดงข้อมูลการรักษาพยาบาล เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ซึ่งได้พัฒนาระบบอยู่เสมอเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
นพ.ณรงค์ เห็นประเสริฐแท้ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า หลังจากได้มีการพัฒนาต่อยอดแอปฯ ฮุกกะเพื่อยกระดับการให้บริการทางสุขภาพสำหรับโรงพยาบาลรัฐด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับโรงพยาบาลในเครือข่ายเข้าด้วยกัน เรียกว่า Hospital Information Exchange (HIE) โดยแอปฯ ฮุกกะ ทำหน้าที่เป็นเวชระเบียนดิจิทัลที่ผู้ป่วยสามารถพกติดตัวไปใช้ได้ทุกที่
ทั้งนี้ ทางผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เล็งเห็นศักยภาพทีม IT ของโรงพยาบาลราชบุรีและความสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 5 ว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับเครือข่าย เพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยให้สะดวกมากขึ้น จึงได้ร่วมพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ ปัจจุบันทั้งประเทศมีหน่วยบริการร่วมใช้งานทั้งหมด 71 แห่ง กระจายอยู่ 28 จังหวัด โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 5 มีหน่วยบริการร่วมใช้งาน 68 แห่ง
พญ.รุจิรา เข็มเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง และประธาน CIO เขตสุขภาพที่ 5 บอกว่า ระบบโปรแกรมฮุกกะ เป็นแพลทฟอร์มกลางของเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเวชระเบียนให้กับผู้ป่วยพกติดตัวไปได้ทุกที่ (Personal Health Record) และยังเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ ในเขตสุขภาพที่ 5 ข้อมูลที่สำคัญ เช่น การใช้ยา ข้อมูลการแพ้ยา ข้อมูลนัด ผลทางห้องปฏิบัติการ และผลอ่านทางรังสีวิทยา ผู้ป่วย ผลการวินิจฉัย และเจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
ทั้งนี้ ส่วนของการสนับสนุนดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยตามนโยบายปฐมภูมิไปได้ทุกที่ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 ขณะนี้ระบบรองรับข้อมูลการรักษาพยาบาลได้แล้ว เช่น หากผู้รับบริการที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี และถูกส่งตัว หรือมีเหตุจำเป็นต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลโพธาราม ผู้รับบริการสามารถแสดงข้อมูลการรักษาพยาบาลผ่านฮุกกะ หรือทางทีม แพทย์ และพยาบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเขตสุขภาพที่ 5 ได้เลย ปัจจุบันในเขตสุขภาพที่ 5 มีการเชื่อมระบบเครือข่ายสุขภาพได้ถึง 68 สถานพยาบาลและกำลังขยายให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ ภายในเดือนกันยายนปี 2565
ด้าน นพ.พีระมน กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 นับเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และต่อยอดการให้บริการทางสุขภาพได้ดี สำหรับการใช้โปรแกรมฮุกกะที่ทางเขตสุขภาพพัฒนาขึ้น สปสช. ได้เข้าไปสนับสนุนในการพัฒนาระบบส่งต่อ และการยืนยันตัวตน โดยมุ่งหวังให้ผู้ถือสิทธิบัตรทองไม่จำเป็นต้องถือใบส่งตัวอีกต่อไปเมื่อต้องการจะรับบริการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตสุขภาพ โดยจะเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยบริการกับฐานข้อมูลของ สปสช. โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ระบบเชื่อมฐานข้อมูลจะเริ่มที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน จากนั้นจะค่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่ชุมชน โดยในอนาคตหวังว่าจะสามารถเชื่อมไปถึง รพ.สต. ทุกแห่งในเขตสุขภาพได้
“การยืนยันตัวตนเป็นระบบต้นทางของความถูกต้องทั้งหมด เช่น การเบิกจ่าย ซึ่งทำให้เราสามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับหน่วยบริการได้อย่างตรงบุคคล ตรงสิทธิ ลดกระบวนการที่เราจะต้องตรวจเอกสาร แต่เดิมอาจใช้เวลาในการตรวจสอบสิทธิ์และการยืนยันตัว ประมาณ 4-5 นาที โดยเฉพะช่วงเช้าที่มีประชาชนใช้บริการอย่างหนาแน่น แต่ขณะนี้พอเชื่อมข้อมูลแล้ว ทำให้ลดเวลาตรงนี้ไปได้มาก” ผอ.สปสช. เขต 5 ราชบุรี กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ สปสช. ต้องจัดระบบยืนยันตัวตน ก็เพื่อป้องกันการสวมสิทธิเอาชื่อคนอื่นมารับบริการแทน ปกป้องสิทธิเพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้สิทธิเข้ารับบริการจริง อาจจะไม่ได้รับบริการ อีกทั้งผู้ป่วยได้ทำหน้าที่ ช่วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในการทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องยืนรอหน้าห้องบัตรนาน หรือหากยังไม่ถึงคิว อาจไปหาที่นั่งพักในจุดอื่นได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso