ส่อง 5 อันดับ ประเทศที่มี "มลพิษ" มากที่สุด ปี 2564
รายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir พบว่า ร้อยละ 97 ของเมืองทั่วโลก ไม่ผ่านค่าแนะนำคุณภาพอากาศล่าสุดของ WHO เผย 5 อันดับ ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุด ปี 2564
กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผย รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2564 จาก IQAir อ้างอิงตามข้อมูล PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินใน 6,475 เมืองใน 117 ประเทศ ภูมิภาค และเขตแดน ในบรรดาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่รวมอยู่ในรายงานนี้ ร้อยละ 44 ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จัดการโดยนักวิทยาศาสตร์พลเมือง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และบริษัทต่าง ๆ
ผลการรายงาน พบว่า มีเมืองเพียงร้อยละ 3 ทั่วโลกที่มีมีระดับคุณภาพอากาศผ่านเกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศล่าสุดของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในขณะที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ผ่านเกณฑ์ค่าแนะนำดังกล่าว
ทั้งนี้ รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2564 ของ IQAir ฉบับนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้เกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ PM2.5 ฉบับปรับปรุงใหม่ซึ่งได้เผยแพร่ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งได้ปรับค่าแนะนำของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีจากเดิม 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM2.5 เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุด มีการตรวจวัดอย่างกว้างขวาง และพบว่า PM2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นโรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคปอด นอกจากนี้ PM2.5 ยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนนับล้านคนต่อปี
ข้อค้นพบหลัก
- ไม่มีประเทศใดผ่านหลักเกณฑ์ค่าแนะนำ PM 2.5 ฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 2564 ของ WHO
- มีเฉพาะพื้นที่ในนิวแคลิโดเนีย หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และเปอร์โตริโกเท่านั้นที่ PM 2.5 มีปริมาณไม่เกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO
- มีเพียง 222 เมืองจาก 6,475 เมืองทั่วโลก ที่ปริมาณมลพิษอากาศไม่เกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศ PM2.5 ของ WHO
- 93 เมือง มีปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยรายปีมากกว่า 10 เท่าของค่าแนะคุณภาพอากาศ ของ WHO
- ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน มีเพียง 12 เมือง (ร้อยละ 7) จาก 174 เมือง ที่ปริมาณ PM2.5 ต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO
- จาก 65 เมืองในแอฟริกา มีเพียงเมืองเดียว (ร้อยละ1.5) ที่ปริมาณ PM2.5 ต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO
- จาก 1,887 เมืองในเอเชีย มีเพียง 4 แห่ง (ร้อยละ 0.2 ) ที่ปริมาณ PM2.5 ต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO
- จาก 1,588 เมืองในยุโรป มีเพียง 55 เมือง (ร้อยละ 3 ) ที่ปริมาณ PM2.5 ต่ำกว่าค่าแนะนำ ของ WHO
- เนื้อหาในรายงานได้ครอบคลุมกว่า 2,408 เมืองในสหรัฐอเมริกาและพบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 เพิ่มขึ้นจาก 9.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 10.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ในขณะที่ลอสแองเจลิสเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา กลับพบว่ามลพิษ PM2.5 โดยรวมของเมืองนี้ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2563
ประเทศที่มี "มลพิษ" มากที่สุด 5 อันดับแรก ปี 2564
- บังคลาเทศ
- ชาด
- ปากีสถาน
- ทาจิกิสถาน
- อินเดีย
ทั้งนี้ นิวเดลี (อินเดีย) เป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่สี่ ตามด้วยธากา (บังกลาเทศ) เอ็นจาเมนา (ชาด) ดูชานเบ (ทาจิกิสถาน) และมัสกัต (โอมาน)
คุณภาพอากาศจีน ดีขึ้นต่อเนื่อง
คุณภาพอากาศใน จีน ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 มีเมืองมากกว่าครึ่งในจีนในรายงานนี้มีระดับมลพิษทางอากาศต่ำกว่าปีก่อนหน้า ระดับมลพิษภายในเมืองหลวงของปักกิ่งยังคงเมีแนวโน้มคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการปล่อยมลพิษและการลดกิจกรรมของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมการปล่อยมลพิษสูงอื่น ๆ
ขณะที่ เอเชียกลางและใต้ มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลกในปี 2564 และเป็นที่ตั้งของ 46 เมืองจาก 50 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก มีเพียงสองเมืองคือ Zhezqazghan และ Chu (คาซัคสถาน) ที่มีปริมาณPM2.5 ไม่เกินค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศของ WHO
การตรวจวัดคุณภาพอากาศยังคงมีน้อยใน แอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง แม้ว่าเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศมีราคาถูกลง ซึ่งการตรวจวัดคุณภาพอากาศมักจะดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและนักวิทยาศาสตร์พลเมือง
แฟรงค์ แฮมเมส ประธานบริหารของ IQAir กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ คือ ไม่มีเมืองใหญ่หรือประเทศใดเลยที่มีอากาศที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของประชาชนตามแนวทางค่าแนะนำคุณภาพอากาศล่าสุดของ องค์การอนามัยโลก รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังต้องทำงานอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีอากาศที่ปลอดภัย สะอาด และดีต่อสุขภาพ ได้เวลาลงมือทำแล้ว
ด้าน อวินาช ชันชาล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า เราเข้าใจดียิ่งขึ้นว่า มลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของเราอย่างไร รายงานฉบับนี้เป็นเหมือนการปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงอากาศสะอาด
มลพิษทางอากาศ PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซฟอสซิล การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และกิจกรรมการเกษตร การจัดการกับวิกฤตมลพิษทางอากาศจำเป็นต้องมีการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้
"นอกจากนี้ การแก้ปัญหา มลพิษทางอากาศ ยังเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย การได้หายใจอากาศสะอาดควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่ใช่อภิสิทธิ์”