ถอดแนวคิดนโยบายช่วยเหลือโควิด-19 ฉบับ "บีจี" ที่เน้น "ให้ใจ" ไม่น้อยไปกว่าผลกำไร
เบื้องหลัง "กลยุทธ์องค์กร" ฉบับ "บีจี" ถอดสูตรแนวคิดนโยบายช่วยเหลือด้านโควิด-19 ตอกย้ำความเป็นองค์กรยุคใหม่ที่เน้น "ให้ใจ" ไม่น้อยไปกว่าผลกำไร เพราะเชื่อว่าธุรกิจกับสังคมต้องเติบโต และเดินหน้าฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา "โควิด-19" ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคนอย่างมหาศาล นับว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาที่สุดสำหรับทุกๆ คน ในขณะเดียวกันโควิดก็ทำให้เราได้เห็นถึงพลังแห่งความร่วมมือจากทุกฝ่าย หลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่างระดมทุกสรรพกำลังเท่าที่ตนเองพอจะทำได้ มุ่งมั่นประคับประคองกันและกันภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ ให้สามารถก้าวผ่านทุกอย่างไปด้วยกัน
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ บทบาทขององค์กรเอกชนต่างๆ ที่ต่างทุ่มเททรัพยากรที่มีเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มความสามารถ เน้นการ "ให้ใจ" กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าการเติบโตทางผลกำไร และหนึ่งในองค์กรที่เดินหน้าในภารกิจเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมาโดยตลอดก็คือ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจี (BG) บริษัทที่คุ้นเคยกันในบทบาทผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แก้ว และการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล บีจี ปทุม ยูไนเต็ด
บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 40 ปี มีหัวเรือใหญ่คือ ปวิณ ภิรมย์ภักดี ด้วยวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ บีจี จึงเดินหน้าขยายและต่อยอดธุรกิจภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือ อาทิ ธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง, ธุรกิจกีฬา เป็นต้น เพื่อรองรับการเติบโตตามเป้าหมายในอนาคต
นอกจากนี้ บีจี ยังมุ่งมั่นมีส่วนร่วมกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จะสามารถเติบโตเคียงข้างบีจีได้อย่างยั่งยืน
ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 บีจี ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Helping Hands For Heroes ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าที่ได้เสียสละดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง โดยการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
ในปี 2564 ที่ผ่านมา บีจี ได้สนับสนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการ Helping Hands For Heroes ไปแล้ว 13 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 12,391,647 บาท ได้แก่
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลเด็ก
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
- โรงพยาบาลปทุมธานี
- โรงพยาบาลลำลูกกา
- โรงพยาบาลธัญบุรี
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- ศูนย์พักคอยมูลนิธิมาดามแป้ง
นอกจากนั้น ยังร่วมผลิตและส่งมอบเตียงกระดาษให้แก่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, ปราจีนบุรี, ขอนแก่น และราชบุรี
และในปีนี้เมื่อเดือน มีนาคม 2565 บีจี ได้บริจาคอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. และโรงพยาบาลสนาม วัดศรีสุดาราม จำนวน 300 ชุด และยังบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย ณ ศูนย์พักคอยเราต้องรอด จำนวน 300 ชุด เพื่อสนับสนุนการทำงาน และเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
เช่นเดียวกับ โครงการดีๆ ที่เกิดจากความตั้งใจช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ขาดรายได้และผู้ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในโครงการ Helping Hands For Thai โดยทาง บีจี ได้ดำเนินการส่งมอบถุงยังชีพรวมถึงของใช้อุปโภค บริโภค ให้แก่หน่วยงานที่ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิรักษ์ไทย, มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม, สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต, โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา, สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา (บ้านเฟื่องฟ้า) บ้านเด็กธรรมรักษ์ และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี มูลค่ารวม 5,438,303 บาท
จากบทบาทดังกล่าวของ บีจี เป็นการตอกย้ำได้อย่างดี ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรยุคใหม่ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ เพื่อประคับประคองและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง ทั้งในสถานการณ์ปกติและวิกฤติ เพราะหากทุกฝ่ายมีกำลังที่จะยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ผลลัพธ์ที่ดีก็ย่อมจะสะท้อนกลับสู่องค์กรเช่นเดียวกัน