ม.กรุงเทพ นำเทรนด์สร้างโอกาสการเรียนรู้ กับงาน Open House บนเมตาเวิร์สเต็มรูปแบบครั้งแรกของไทย
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำเทรนด์สร้างโอกาสการเรียนรู้สู่ยุคใหม่โลกการศึกษา พร้อมก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลในจักรวาลนฤมิต
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำเทรนด์สู่ยุคใหม่โลกการศึกษาพร้อมก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลในจักรวาลนฤมิต ภายหลังการจัดงาน Open House BU 2022 on Metaverse ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากนักเรียนมัธยมและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี
ดร.ถิรพล วงศ์สะอาดสกุล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในบทบาทของมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำได้ประกาศความพร้อมก้าวนำเทรนด์ด้านการศึกษาก่อนใคร เมื่อการมาถึงของเมตาเวิร์สซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่งในวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตกำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในโลกธุรกิจและในระบบการศึกษา
Open House BU 2022 on Metaverse ที่จัดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นการจุดพลุครั้งใหญ่ให้แวดวงการอุดมศึกษาไทย และแสดงให้เห็นความพร้อมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในการยกระดับสถาบันการศึกษามุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในโลกดิจิทัลที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเรียนรู้ในโลกจริง งานนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักเรียนในระดับมัธยมปลายและผู้ปกครองที่เข้ามาอัพเดทเทรนด์ใหม่ด้านการศึกษา และได้มาสัมผัสประสบการณ์ทะลุมิติเมตาเวิร์สผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในงาน โดยผู้ร่วมงานทุกคนล็อกอินเลือกร่าง Avatar เข้าไปในโลกเสมือนจริงที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกระตุ้นการรับรู้ของระบบประสาทสัมผัส ทั้งการมอง การได้ยิน และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมการพบปะสังสรรค์ของนักเรียน นักศึกษา งานนิทรรศการและกิจกรรมแนะนำหลักสูตรคณะ / วิชา ของรุ่นพี่ ศิษย์เก่า และคณาจารย์
ผลงานใน Metaverse จากงาน Open House BU 2022 on Metaverse ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง ได้มองเห็นทิศทางและรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตที่เปลี่ยนไป ประสบการณ์เมตาเวิร์สจากงานนี้แสดงให้เห็นอนาคตของการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดที่จะพัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยรูปแบบที่เรียกว่า Immersive Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมพลังการเรียนการสอน เมตาเวิร์ส ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาและได้ลองทำอะไรที่อาจทำไม่ได้ในความเป็นจริง
"การออกแบบและพัฒนาโลกเสมือนจริงสำหรับงานนี้ มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรมืออาชีพด้านการออกแบบและสายงานไอที โดยมีนักศึกษาของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์วิธีการทำงานของมืออาชีพในการสร้างโลกเสมือนจริง และนักศึกษาสายนิเทศได้มีส่วนร่วมในงาน Virtual Event Production แบบ XR และ AR รวมถึงตัวแทนนักศึกษาทุกคณะที่ได้ Avatar เข้ามาพบปะน้องๆ ในงาน ที่สำคัญประสบการณ์ของนักศึกษาที่ได้จากการทำงานครั้งนี้สามารถนำมาต่อยอดการเรียนรู้และฝึกทักษะตนเองในสาขาวิชาที่เรียนได้ต่อไป" ดร.ถิรพล วงศ์สะอาดสกุล กล่าว
เบื้องหลังการสร้างประสบการณ์ เมตาเวิร์ส ภายในงานมาจากเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง เช่น Virtual reality (VR) ซึ่งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมจริงแบบ 360 องศาเข้าไปโลกเสมือนจริง สามารถรับรู้ได้จากการมองเห็น การได้ยินเสียง และสัมผัส เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ผ่านภาพ 3 มิติ สร้างประสบการณ์ใหม่ และสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการเรียนการสอนให้เข้าใจง่ายขึ้น เทคโนโลยี Mixed Reality (MR) เพื่อการสัมผัสและสร้างภาพยุคใหม่ที่ผสานโลกจริงเข้ากับจินตนาการ สามารถสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารกับผู้เรียนผ่านประสาทสัมผัสรับรู้ในโลกเสมือนจริง โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยสร้างสรรค์สังคมเสมือนที่มีความหลากหลายสำหรับการนำเสนอข้อมูล ความรู้ การลงมือปฏิบัติ การสาธิต การทดลองทำงานในรูปแบบต่างๆ ในระดับที่มีความลึกซึ้งมากขึ้น มอบประสบการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่เรียนรู้องค์ความรู้ (Knowledge) ต่างๆ จากแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกสำหรับทุกคน ภายใต้แนวคิด Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังเป็นแซนด์บ็อกซ์ (Sand Box) หรือพื้นที่ฝึกฝนสร้างประสบการณ์ชีวิต ทักษะการทำงาน ทั้งที่เป็นซอฟต์สกิลและฮาร์ดสกิลให้ผู้เรียนทุกคน ทุกพื้นที่ในมหาวิทยาลัยในทุกคณะทุกสาขาวิชาจะเป็นพื้นที่ฝึกสมองประลองปัญญาและโชว์เคสฝีมือการทำงานจริงผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล สิ่งใดที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้และการฝึกฝนทางภายภาพ สามารถแปลงร่างสร้างเสริมเข้าไปในเมตาเวิร์สเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้แบบใหม่ไร้ขีดจำกัด อนาคตไม่ไกลจากนี้ การเรียนรู้ในเมตาเวิร์สและโลกการเรียนรู้จริงจะพัฒนาเดินหน้าไปพร้อมกัน และสามารถทำความรู้จักมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่มเติมได้ที่ Bangkok University