TCMA ผนึก 25 พันธมิตร ลดปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" 1 ล้านตัน ในปี 2566
"สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย" หรือ TCMA เผยปี 2564 ลด "ก๊าซเรือนกระจก" ได้ถึง 300,000 ตัน CO2 พร้อมประกาศ MISSION 2023 เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ในปี 2566 จับมือ 25 พันธมิตร กระตุ้นใช้ "ปูนซีเมนต์" ไฮดรอลิก
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) รับมือ เตรียมพร้อม ป้องกัน ผลกระทบ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน จากปัญหาปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ประสบความสำเร็จลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ภายในปลายปี 2564 ได้เร็วกว่าที่กำหนด 1 ปี จากการร่วมมือกับ 16 ภาคีจากภาครัฐ ปีนี้พร้อมประกาศ” MISSION 2023 เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ในปี 2566 จับมือ 25 พันธมิตร กระตุ้นให้ทุกภาคหันมาใช้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการก่อสร้างทุกประเภท เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
ปัจจุบันจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคเห็นความสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นนโยบายสำคัญของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลด ก๊าซเรือนกระจก ของทุกภาคส่วน, การบริหารจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้วางไว้
ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแถลงในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP 26) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เกี่ยวกับเรื่องการยกระดับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยร้อยละ 40 เพื่อมุ่งสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608
สู่ยุควัสดุก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เทรนด์ของโลกยุค digital นี้ คือ การเดินหน้าเข้าสู่ยุคของการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อน ส่งผลให้วงการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ ต่างมุ่งยกระดับกระบวนการผลิตให้สามารถมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ มีการทำวิจัย และพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็น “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ที่มีความสามารถในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศได้จริง
"นายชนะ ภูมี" นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมแรกของไทยที่เข้ามาตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุเป้าหมายแรกคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ภายในปลายปี 2564 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ภายในปลายปี 2565 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการผลักดันร่วมมือกันระหว่าง TCMA กับ 16 ภาคีจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยการสนับสนุนจาก 5 กระทรวง
จับมือ 25 พันธมิตรลดปล่อยก๊าซร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ในปี 2565 สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย จึงพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ 25 พันธมิตร ประกาศ ‘MISSION 2023’ มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี 2566 พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้ ปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิกในการก่อสร้างทุกประเภท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
สำหรับ 25 พันธมิตร ที่จะจับมือกันไปสู่เป้าหมาย ครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนร่วมกันของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานด้านการก่อสร้างของหน่วยงาน, การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์, การส่งเสริมการใช้งาน,การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์
โดยที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะยกระดับขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ดด้วยการมุ่งผลิต "ปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิก" ที่มีคุณสมบัติช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในวงกว้างแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม นับเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ที่จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อนาคตมุ่งสู่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
อย่างไรก็ดี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการบูรณาการความร่วมมือของทั้ง 25 หน่วยงาน และการสนับสนุนของ 6 กระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC) โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเจ้าภาพหลักจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565
ปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต การใช้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่มีผลวิจัยพัฒนาเชิงเทคโนโลยี มามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จริง เพื่อมาทดแทนการใช้ปูนเม็ด
เพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ผ่านมามีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นนโยบายที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดความเสี่ยง, ความเสียหาย และบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการปรับตัว เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในอนาคต ต่อไปให้ได้
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์